3 กลุ่ม ชิงนายก อบจ.ภูเก็ต

การเมือง
17 ธ.ค. 63
16:31
4,563
Logo Thai PBS
3 กลุ่ม ชิงนายก อบจ.ภูเก็ต
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.ภูเก็ต ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่ไม่มี "แชมป์เก่า" ลงชิงชัย ด้วยเหตุที่นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ ที่เป็นนายก อบจ.ภูเก็ต บริหารงานต่อเนื่อง 2 สมัย และเหลืออีกแค่ 8 เดือนจะครบวาระ เสียชีวิตเมื่อปี 2558 ช่วงรัฐบาล คสช. ทำให้ปลัด อบจ.

การเลือกตั้งนายก อบจ.ภูเก็ต ครั้งนี้ เป็นการเลือกที่ไม่มีอดีต นายกอบจ.เนื่องจากนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ ที่เป็นนายก อบจ.ภูเก็ต เสียชีวิตเมื่อปี 58 ในช่วงรัฐบาล คสช.ทำให้ปลัด อบจ.ภูเก็ต ต้องปฎิบัติราชการแทน

ทั้งนี้ หลังปิดรับสมัครมีผู้ลงสนามท้าชิงเก้าอี้นายก อบจ.รวม 5 คน และสมาชิกสภา อบจ. ภูเก็ต ทั้งหมด 77 คน แต่ที่มีความพร้อม ลงสนามชิงทั้งเก้าอี้ฝ่ายบริหารและจัดทีมส่งชิงสมาชิกสภา อบจ.ครบทั้ง 24 เขต และมีโอกาสขับเคี่ยวชิงชัยกัน 3 คน ที่ลงสมัครและเปิดตัวตั้งแต่วันแรก

ตัวเต็งคนแรก ที่คอการเมืองภูเก็ตเก็งข้อสอบไว้ คือ หมายเลข 1 "โกยุส" นายจิรายุส ทรงยศ ลงสมัครในนามทีม "คนบ้านเรา" "โกยุส" เป็นที่ปรึกษาเก่าของนายไพบูลย์ นายก อบจ.คนเดิม เมื่อนายไพบูลย์เสียชีวิต นายจิรายุสเปิดตัวชัดเจนว่า จะลงสนามนี้ และทำงานในพื้นที่นับแต่นั้น โดยยังคงใช้ชื่อทีม "คนบ้านเรา" ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยนายไพบูลย์ และมีสมาชิกสภา อบจ.บางส่วน ที่ยังร่วมงานมาลงสนามในปีนี้

ที่ว่าเป็นตัวเต็ง ก็เพราะทีม “คนบ้านเรา” เจนเวทีการเมืองท้องถิ่นและทำงานใกล้ชิดประชาชนมานาน เฉพาะนายไพบูลย์ ก็คว้าเก้าอี้มาได้ 2 สมัยติดต่อกัน คนใกล้ชิดอย่างนายจิรายุสจึงน่าจะรู้งานจากการซึมซับการทำงานจากนายไพบูลย์ และน่าจะรู้ใจคนภูเก็ตอยู่บ้าง

แต่ถึงจะใกล้ชิดแต่จังหวัดภูเก็ตที่ไม่เน้นที่ตัวบุคคลหรือยึดติดกับสีเสื้อ ว่ากันว่า คู่แข่งของ "โกยุส" นายเรวัต อารีรอบ ที่มีความน่าสนใจเพราะผลงานในช่วง COVID-19 ก็ซื้อใจคนภูเก็ตได้ไม่น้อย ว่ากันว่า ศึกนี้คือศึกที่จะวัดพลังระหว่างฐานเสียงพรรคการเมืองระดับชาติ และความเหนียวแน่นของเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นเดิมของ จ.ภูเก็ต

นายเรวัต อารีรอบ ผู้สมัครหมายเลข 2 ทีม “ภูเก็ตหยัดได้” กำลังวัดพลังกับ "โกยุส" ที่เป็นเครือข่ายการเมืองท้องถิ่น แม้จะไม่ได้ลงสมัคร หรือเปิดตัวพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผย แต่นายเรวัตคนนี้ เคยเป็นอดีต ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ และยังเป็นอดีตผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของนายเรวัติ

เพราะแม้จะไม่ได้ลงสนามในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยภูมิหลัง และสายสัมพันธ์ทางการเมืองอันยาวนาน มีฐานเสียงในพื้นที่ไม่น้อย และในห้วงที่ผ่านมาก็ทำงานเกาะติดพื้นที่ตลอด และเป็นที่ชื่นชอบของคนในพื้นที่ด้วยเป็นคนอัธยาศัยดี เข้าถึงได้ทุกกลุ่ม และเป็นนักประสานที่ดี โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ COVID-19 ระบาด นายเรวัต เป็นตัวเชื่อมประสานนำงานด้านสาธารณสุขลงพื้นที่ภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง

และไม่เพียงเท่านั้น ในวันลงสมัครรับเลือกตั้งชิงนายก อบจ. "เจ้กี่" ธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ที่เคยเปิดตัวสนใจจะลงชิงนายก อบจ.หลังนายไพบูลย์เสียชีวิต ก็เดินทางไปที่สถานที่เปิดรับสมัครด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้ลงสมัคร หากแต่ไปเปิดตัวเชียร์และให้กำลังใจทีม "ภูเก็ตหยัดได้" ส่งสัญญาณพร้อมเทฐานเสียงที่มีมาหนุนนายเรวัต

"เจ้กี่" คนนี้ เป็นอดีต ส.ว.ภูเก็ต และอดีตประธานกรรมาธิการท่องเที่ยว วุฒิสภา และเป็นภรรยาของนายประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการเครือโรงแรมหรูของภูเก็ต ที่ทำให้คอการเมืองภูเก็ต ฟันธงกันว่า สนามนี้จะเป็นการช่วงชิงคะแนนกันระหว่างหมายเลข 1 นายจิรายุส และนายเรวัต หมายเลข 2

แต่ที่ประมาทไม่ได้ คือ หมายเลข 3 นายสรวุฒิ ปาลิมาพันธ์ ในนามคณะก้าวหน้าภูเก็ต ก็มีโอกาสสอดแทรกได้เหมือนกัน นายสรวุฒิ เป็นนักธุรกิจภูเก็ต มาจากครอบครัวนายหัวอีกตระกูลของภูเก็ตลงสนามการเมืองครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยมุ่งเน้นนโยบายที่หวังจับกระแสคนรุ่นใหม่ที่เทเสียงสนับสนุน "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ตั้งแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่และสนามภูเก็ต เป็นอีกแห่งที่ "คณะก้าวหน้า" หวังปักธงการเมืองท้องถิ่น แม้ "ปรากฎการณ์นครศรีฯ" ที่มีมวลชนไปบุกโรงแรมต่อต้าน "ธนาธร" และเครือข่าย และลุกลามขยายวงไปในหลายพื้นที่ รวมทั้งที่ภูเก็ตก็ตาม แต่เมื่อมีคนต้าน ก็ย่อมต้องมีคนหนุน กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เทใจให้คณะก้าวหน้า ก็พร้อมที่จะเทเสียงให้ นายสรวุฒิ แต่ปัญหาคือคนกลุ่มนี้จำนวนมากไปเรียนหรือทำงานนอกจังหวัด

ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ คือ หมายเลข 4 นายทรงศักดิ์ สวนอักษร ทีมภูเก็ตปุ้นเต่ มีอาชีพเป็นทนายความ และหมายเลข 5 นายปัญญา ไกรทัศน์ ข้าราชการบำนาญ ที่เสนอตัวเป็นทางเลือกให้คนภูเก็ต

ดังนั้นในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ก็จะได้ทราบกันว่า เครือข่ายการเมืองท้องถิ่น หรือผู้สมัครที่มีพรรคการเมืองสนับสนุน คนภูเก็ตจะเลือกแบบไหน แต่ที่แน่ ๆ ผลงานในอดีต ก็น่าจะป็นปัจจัยชี้ขาดเพราะผลงานในอดีตก็น่าจะพอคาดการณ์อนาคตได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง