รมว.ยุติธรรมแจงเงื่อนไขพักโทษ"ณัฐวุฒิ" ต้อง "ติดกำไลEM - รายงานตัวทุก 3 เดือน"

อาชญากรรม
19 ธ.ค. 63
10:20
210
Logo Thai PBS
รมว.ยุติธรรมแจงเงื่อนไขพักโทษ"ณัฐวุฒิ" ต้อง "ติดกำไลEM - รายงานตัวทุก 3 เดือน"
รมว.ยุติธรรมแจงเงื่อนไขพักโทษ "ณัฐวุฒิ" ต้องติดEM รายงานตัว 3 เดือน-ห้ามยุ่งการเมือง ย้ำทุกคนต้องทำตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด พร้อมพิจารณาติดกำไลผู้เหลือโทษไม่ถึง 5 ปีอีก 16,000 คน ยันนักโทษ 7 กลุ่มร้ายแรงไม่มีสิทธิ์วอนสังคมอย่ากังวล

วันนี้ (19 ธ.ค.63) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการพักโทษนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช.ว่า กรณีของนายณัฐวุฒิเป็นการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษและได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์โดยคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งกรณีของนายณัฐวุฒิ มีเงื่อนไขการคุมประพฤติ คือ ระยะเวลาคุมประพฤติตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.2563 - 29 มี.ค.2564 ติดกำไล EM เป็นเวลา  3 เดือน 11 วัน และต้องรายงานตัวกับ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนนทบุรีเดือนละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังต้องเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรที่กรมคุมประพฤติกำหนด ภายในระยะเวลาติดกำไล EM ห้ามยุ่งเกี่ยวหรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เช่น ห้ามให้สัมภาษณ์ ปราศรัย ออกสื่อ หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และมีพนักงานคุมประพฤติออกสอดส่องติดตามในระยะเวลาคุมประพฤติ อย่างน้อย 1 ครั้ง ห้ามออกนอกเขต จ.นนทบุรี เว้นแต่มีธุระสำคัญเป็นครั้งคราวให้ขออนุญาตพนักงานคุมประพฤติและได้รับอนุญาตก่อนจึงจะออกนอกเขตพื้นที่ได้ และห้ามออกนอกราชอาณาจักร

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนายณัฐวุฒิแล้วยังมีผู้ต้องขังที่ได้รับความเห็นชอบพักการลงโทษอีก 76 คน ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด ซึ่งการได้รับการพระราชทานอภัยโทษมีผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มแรกผู้ที่ได้รับการลดโทษแล้วครบกับโทษที่ได้รับจะได้รับการปล่อยตัวเลย กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ได้รับการลดโทษแล้วโทษเหลือไม่ถึง 1 ปีจะได้รับการพักโทษโดยการติดกำไล EM และกลุ่มที่ 3 ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังมาแล้ว 1 ใน 3 ลดโทษแล้วเหลือเกิน 1 ปีแต่ไม่ถึง 5 ปีซึ่งมีอยู่ประมาณ 16,000 คน ตรงนี้เราจะมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะสามารถนำมาติดกำไล EM เพื่อพักโทษได้หรือไม่ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน ตรงนี้จะเป็นการลดความแออัดภายในเรือนจำได้ ตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรม

สังคมไม่ต้องวิตกกังวลผู้ที่พ้นโทษจากการพระราชทานอภัยโทษและพักโทษ ผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับคดีร้ายแรง 7 ประเภทคือ ฆ่าข่มขืนเด็ก ฆ่าข่มขืน ฆาตรกรต่อเนื่อง ฆาตรกรโรคจิต สังหารหมู่ ปล้นฆ่าชิงทรัพย์และนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการลดโทษ

นายสมศักดิ์ ยังระบุว่า หากผู้ต้องขังคดีร้ายแรง 7 ประเภท พ้นโทษ จะมีระบบการติดตามโดยศูนย์ JSOC ซึ่งจะพยายามอธิบายให้สังคมเข้าใจในรูปแบบและหน้าที่ของศูนย์เรื่อย ๆ ต่อไป และเมื่อสังคมทราบว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน จะช่วยส่งข่าวให้รับรู้และจะทำให้เกิดการระวังตัวทำให้ไม่เกิดเหตุร้ายขึ้นอีก ซึ่งผู้ที่ได้รับการลดโทษและพักโทษนั้นจะเป็นผู้ต้องขังคดีไม่ร้ายแรงและมีความประพฤติดี ตามการพิจารณาอย่างเข้มงวดของคณะกรรมการฯเท่านั้น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง