ศาลลอนดอนชี้ผลชันสูตร ดญ.9 ขวบ เสียชีวิตเพราะมลพิษทางอากาศ

ต่างประเทศ
19 ธ.ค. 63
11:16
788
Logo Thai PBS
ศาลลอนดอนชี้ผลชันสูตร ดญ.9 ขวบ เสียชีวิตเพราะมลพิษทางอากาศ
ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ Southwark กรุงลอนดอน ตัดสินคดี ระบุมลพิษทางอากาศ เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กหญิงเอลลา คิสซี-เดบราห์ วัย 9 ขวบ และระบุว่า เป็นความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

การตัดสินครั้งนี้ นับเป็นกรณีแรกในอังกฤษ และอาจจะเป็นกรณีแรกในโลก ที่ระบุว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิต

บ้านของ เอลลา คิสซี-เดบราห์ อยู่ใกล้กับถนน South Circular เมือง Lewisham ทางตอนใต้ของลอนดอน แต่ละวันเธอต้องเดินไปโรงเรียนโดยผ่านถนนนี้ ซึ่งระหว่างปี 2006-2010 พบว่า ค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ และมลพิษทางอากาศจากถนน เกินค่ามาตรฐาน

เกี่ยวกับ เอลลา คิสซี-เดบราห์

เอลลา คิสซี-เดบราห์ ใฝ่ฝันที่จะเป็นนักบิน แตในวัย 6 ขวบ เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลครั้งแรกในปี 2010 ด้วยอาการไอกำเริบรุนแรง หอบหืด และหมดสติเป็นเวลา 3 วัน

ช่วงสองปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เอลล่าเข้าโรงพยาบาลร่วม 30 ครั้ง เธอเสียชีวิตในเช้าวันที่ 15 ก.พ.2556 ผลชันสูตรระบุสาเหตุเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวฉับพลัน

 

แม่ของเอลล่า โรซามุนด์ คิสซี-เดบราห์ ได้รับการติดต่อจาก ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หลังพบหลักฐานมลพิษทางอากาศในพื้นที่อยู่อาศัย โรซามุนด์ เดินหน้าต่อสู้ให้มีการชันสูตรอีกครั้ง

การตัดสินของ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ Southwark ประเทศอังกฤษ

วันที่ 16 ธ.ค.2563 ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ Southwark กรุงลอนดอน ชี้ว่า หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเอลล่ามาจาก ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เกินค่ามาตรฐาน

 

หลังคำตัดสิน โรซามุนด์ คิสซี-เดบราห์ แม่ขอเอลล่า เรียกร้องให้มีการเคลื่อนไหวกฎหมายอากาศสะอาดอย่างจริงจัง และไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลอังกฤษ แต่รวมไปถึงรัฐบางทั่วโลก

นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซาดิก คาน โพสต์ข้อความ ว่ากรณีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเดินหน้าจัดการปัญหามลพิษอย่างจริงจัง

กฎหมายเกี่ยวข้องกับมลพิษทางสิ่งแวดล้อมของไทย

ในประเทศไทย ปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี และส่งผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่นผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เด็ก และผู้สูงอายุ

ไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินคดีด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ สอง ฉบับ คือ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เกี่ยวกับการละเมิดทั่วไป และ มาตรา 437 ว่าด้วยความเสียหายจากทรัพย์อันตราย

 

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

รศ.เดือนเด่น นาคสีหราช หัวหน้าภาควิชากฎหมายเอกชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า แม้ไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่การดำเนินคดีด้านผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ยังมีข้อจำกัด โจทย์ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ผลเสียทางร่างกายที่เกิดขึ้น มาจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจึงสามารถฟ้องร้องทางคดีได้

นอกจากนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศ มีที่มาจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ระบบขนส่ง ขณะที่ข้อบังคับที่มีอยู่ แตกต่างกันไปในหน่วยงานต่าง ๆ

การเดินหน้ากฎหมายอากาศสะอาดของไทย

ผศ.ธนาชัย สุนทรอนันตชัย คณะทำงานด้านกฎหมายเครือข่ายอากาศสะอาด มองว่ากฎหมายอากาศสะอาดที่ไทยควรเร่งผลักดัน ควรเน้นการทำงานร่วมกัน มีการกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เน้น “สิทธิการหายใจอากาศสะอาด” ของประชาชน

 

เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย กำลังเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ที่ครอบคลุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายภาครัฐ และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง