THE EXIT : บริษัทจีนเดินหน้าขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตช

สิ่งแวดล้อม
19 ธ.ค. 63
19:13
1,228
Logo Thai PBS
THE EXIT : บริษัทจีนเดินหน้าขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตช
กว่า 5 ปีที่ชาว อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร คัดค้านการสำรวจพื้นที่กว่า 120,000 ไร่ เพื่อทำเหมืองโปแตชของบริษัทสัญชาติจีน ซึ่งได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจพื้นที่เกือบ 120,000 ไร่ การต่อสู้ทำให้แกนนำ 9 คน ถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นตัดสินให้จ่ายค่าเสียหาย 1,500,000 บาท แก่บริษัท

ไร่นาสวนผสมกว่า 8 ไร่ ของนงค์ชัย พันธ์ดา สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร คือ ผืนดินที่เขาต้องการพลิกฟื้นจากความแห้งแล้งให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และ เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นว่า วิถีการเกษตรแบบพอเพียงเป็นสิ่งที่ยั่งยืนและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แม้ในพื้นที่จะมีการสำรวจเหมืองแร่โปแตชเพื่อก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่


นงค์ชัย พันธ์ดา เป็น 1 ใน 9 ต้องหาที่บริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ฟ้องดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 3,600,000 บาท ซึ่งศาลจังหวัดสว่างแดนดินพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้ความเสียหายกว่า 1,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งคดียังอยู่ในระหว่างชั้นอุทธรณ์ แต่เขายืนยันว่า จะเดินหน้าปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน

ถ้าเหมืองหยุดไปคนที่สนับสนุนก็ไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติม ไม่มีรายได้ บริษัทได้ประโยชน์ก็จ้าง ถ้าไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่จ้าง แตกต่างกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวและพยายามสร้างวิถีชีวิตให้เรา เหมืองหยุดเราก็ทำมาหากินเหมือนเดิม ได้เงินเหมือนเดิม


บริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชประมาณ 120,000 หมื่นไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล 82 หมู่บ้าน/แต่การเข้ามาของบริษัทเอกชนทำให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างความแตกแยกคนในชุมชนแม้จะอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน กิจตกรณ์ น้อยตาแสง กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร ระบุว่า กิจกรรมหมู่บ้านที่เคยร่วมกันทำ ต้องแยกเป็น 2 กลุ่ม โดยเฉพาะกองทุนฌาปนกิจหมู่บ้าน

คนที่ไม่เอาเหมืองกับคนที่ไม่สนใจมองว่า คนที่ออกไปต่อสู้แรกๆ เป็นบ้า คิดว่าจะไปคัดค้านทำไม ทั้งที่รัฐออกมาตรการมาแล้ว และเป็นคนที่ถ่วงความเจริญ

 

สำรวจแร่คลุม 20 ลำห้วย หวั่นกระทบสุขภาพชาวบ้าน

ขณะเดียวกัน กิติมา ขุนทอง สาขาวิทยาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สกลนคร ยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อแหล่งน้ำหากเกิดเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ โดยเฉพาะห้วยโทง แหล่งน้ำดิบผลิตประปาชาวอำเภอวานรนิวาส อาจปนเปื้อนความเค็มจากกองเกลือขนาดใหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำยาม ไหลต่อไปยังแม่น้ำสงครามที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างตามสายน้ำที่ไหลผ่าน

การสำรวจแร่ครั้งเก่า 120,000 ไร่ เป็นแหล่งลำห้วยขนาดเล็กมากถึง 20 ลำห้วย ที่ไหลลงไปรวมกับแม่น้ำใหญ่ และมีระบบนิเวศเชื่อมต่อกัน ชาวบ้านจึงกังวลว่าจะกระทบต่อแนวทางการหากินและสุขภาพ


ผลประโยชน์และเงินลงทุนที่ชาวอำเภอวานรนิวาสจะได้รับจากโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หากเกิดเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ คือ ความคาดหวังของฝ่ายสนับสนุน สัญชัย พัฒนเพ็ญ อดีตนายก อบต.วานรนิวาส ตั้งข้อสังเกตว่า การคัดค้านตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเจาะสำรวจอาจทำให้สูญเสียโอกาส และการอ้างถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าสนับสนุน

ผมโดนหาว่าขายชาติ โดยไม่รู้ว่าขายชาติตรงไหน แค่คิดต่างเท่ากับขายชาติ จนกลายเป็นทุกคนเกิดความกลัว แทนที่จะรับฟังความคิดซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ การดำเนินการสำรวจเหมืองแร่โปแตชเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 2519-2520 หลังกรมทรัพยากรธรณีดำเนินการเจาะสำรวจแร่ที่อำเภอวานรนิวาส อำเภอพรรณานิคม และ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พบแร่โพแตชชนิดแร่คาร์นัลไลต์ และ ซิลไวต์ 


2 เม.ย.2540
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และ ชักชวนให้มาลงทุนโครงการเหมืองแร่โพแตช มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ

16 พ.ค.2547 บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแตชในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 12 แปลง เนื้อที่ประมาณ 120,000 ไร่


12 ม.ค.2558
กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้สำรวจแร่ สิ้นสุด 4 ม.ค.2563 แต่ตลอด 5 ปีสำรวจไปได้เพียง 3 หลุมจากเป้าหมายกว่า 50 หลุม ปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่หว่างการพิจารณาคำขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษฉบับใหม่ของบริษัทเอกชน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง