หมอธีระ ชี้ไทยเผชิญ COVID ระลอก 2 คาดติดเชื้อสูงกว่าเดิม 5 เท่า

สังคม
20 ธ.ค. 63
10:44
5,791
Logo Thai PBS
หมอธีระ ชี้ไทยเผชิญ COVID ระลอก 2 คาดติดเชื้อสูงกว่าเดิม 5 เท่า
หมอธีระ ชี้ขณะนี้ไทยเผชิญ COVID-19 ระลอก 2 จับตาอีก 4-8 สัปดาห์ มีโอกาสขยายวงรุนแรงกว่านี้ หากยังคุมไม่อยู่ คาดจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดวันละ 940 คน สูงกว่าเดิม 5 เท่า ด้านหมอยง แนะทบทวนฉลองปีใหม่ หวั่นรวมตัวหมู่มากยากต่อการเว้นระยะห่าง

วันนี้ (20 ธ.ค.2563) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ภาพรวมทั่วโลกยังพบการระบาดอันหนักหน่วง หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง เพราะมาตรการที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาไม่ถูกเวลา แถมการไม่เข้มงวดเรื่องพฤติกรรมการป้องกันในประชาชน ทำให้เกิดระบาดซ้ำ ซึ่งหนักกว่าเดิม

คริสมาสต์และปีใหม่ที่จะถึงนี้ ถือเป็น Blue Christmas and Blue New Year เพราะหลายประเทศจะต้องฝ่าฟันกับการระบาดที่หนักหน่วง ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร อิตาลี ตุรกี รวมถึงอื่นๆ ในทวีปยุโรป สแกนดิเนเวีย อเมริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย

สำหรับเมืองไทย ชัดเจนว่ากำลังประสบกับปัญหาการระบาดระลอกที่สอง ขณะนี้อยู่ในช่วงต้น และมีโอกาสขยายวงรุนแรงกว่านี้ในอีก 4-8 สัปดาห์ข้างหน้า หากคุมไม่ได้ คาดว่าไทยจะมีจำนวนการติดเชื้อสูงสุดต่อวันราว 940 คน สูงกว่าเดิม 5 เท่า และจะยาวนานประมาณ 88 วัน นานกว่าเดิม 2 เท่า

ช่วงเวลาทองในการควบคุมโรคระลอกสองนี้ หากวิเคราะห์ตามประเทศอื่นๆ น่าจะมีเวลาที่จะต้องจัดการให้ได้ภายใน 1 เดือน ใครบอกว่าจะปิดเคสภายใน 1 สัปดาห์นั้น บอกตรงๆ ว่า เป็นไปไม่ได้ และไม่ควรอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป เนื่องจากศึกนี้ต้องการคนที่ดี มีความรู้ความสามารถกว่านี้ เพื่อมาต่อสู้กับโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในศตวรรษ

 

แนะ 6 มาตรการด่วน ชะลอ COVID-19 ระบาด

สำหรับตอนนี้ สิ่งที่รัฐควรทำอย่างยิ่ง มีดังนี้ 1.ศบค.ควรแสดงบทบาทเป็นหลักในการจัดการปัญหาโรคระบาด 2.ลดบทบาทของ ศบศ.ลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นได้ใช้แน่นอน หากถึงเวลาที่เหมาะสม ส่วนตัวแล้วคาดว่าควรชะลอไปถึงช่วงมีนาคมปีหน้า แล้วค่อยงัดแผนมาปรับใช้ตามสถานการณ์อีกครั้ง

นอกจากนี้ 3.ต้องปรับคณะรัฐมนตรีทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงนโยบายสุขภาพท่องเที่ยวและเดินทาง เพื่อนำคนอื่นที่ดีมีความสามารถมาบริหาร 4.ประกาศพื้นที่เสี่ยงระดับภาค เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ และวางแผนชีวิต ปรับตัว ระมัดระวังเรื่องการเดินทางสู่พื้นที่เสี่ยง
ห้า 5.รณรงค์ให้ทุกคนในประเทศใส่หน้ากาก 100%

และ 6.รณรงค์ให้ทุกคนในประเทศมาตรวจ COVID-19 หากสงสัยว่ามีประวัติไปในพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม และในกรณีที่ใครมีอาการคล้ายไข้หวัด ขอให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือจุดบริการตรวจ COVID-19 ด้วย แม้จะไม่มีประวัติเสี่ยง เนื่องจากขณะนี้มีการติดเชื้อในประเทศแน่นอน แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่าใครติดใครไม่ติด 

COVID-19 กับเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ?

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า "เราต้องไม่ลืมว่าในการระบาดระลอกแรกของไทยในเดือน มี.ค. และ เม.ย. ได้มีการเลื่อนวันปีใหม่ไทย ทำให้เราควบคุมประสบความสำเร็จภายในเดือน เม.ย." 

การเดินทาง และควบคุมการเฉลิมฉลองต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการรวมตัวของคนหมู่มาก ยากต่อมาตรการในการกำหนดระยะห่าง ปีใหม่กำลังจะเข้ามา หลายคนเตรียมเฉลิมฉลอง ดังนั้น ต้องคำนึงว่า ในปีนี้จะไม่เหมือนเดิม สิ่งที่ต้องคำนึงคือ จะต้องอยู่แบบวิถีชีวิตใหม่ ถ้าปีนี้จะฉลองให้น้อยลงด้วยการระมัดระวัง หรือลดละการเฉลิมฉลองปีใหม่ เหมือนตอนสงกรานต์ได้ไหม

การระบาดรอบ 2 ทุกคนจะต้องช่วยกันป้องกัน ทุกคนรู้การกำหนดระยะห่าง ไม่สามารถทำได้เลย ถ้ามีการเฉลิมฉลอง เรารอไปปีหน้าได้ไหม เชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้ เราก็จะมีวัคซีนในการป้องกัน เมื่อประชาชนหมู่มาก ได้รับวัคซีนในการป้องกัน ภาวะปกติ ก็จะกลับมาเอง ถึงช้าหน่อย ก็ยังดีใช่ไหม ถ้าเกิดการระบาดรอบ 2 ก็จะเป็นการยากในการควบคุม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง