ฉลุยแก้พ.ร.บ.โรคติดต่อ "เพิ่มอำนาจ-กำหนดโทษ" แต่ไม่ทันปีใหม่

การเมือง
22 ธ.ค. 63
17:44
5,037
Logo Thai PBS
ฉลุยแก้พ.ร.บ.โรคติดต่อ "เพิ่มอำนาจ-กำหนดโทษ" แต่ไม่ทันปีใหม่
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวแก้ไขร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่แล้ว เพิ่มอำนาจการบังคับใช้กฎหมาย-กำหนดบทลงโทษ ผู้ฝ่าฝืนไม่ทำตามคำสั่ง เตรียมส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาตามขั้นตอน แต่ไม่ทันใช้ปีใหม่

วันนี้ (22 ธ.ค.2563) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับที่ ...) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เนื่องจากที่ผ่านมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ จึงต้องปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขเพิ่มเติม คือการเพิ่มอำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อ เช่น ให้สามารถอนุมัติเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัว ซึ่งปัจจุบันใช้อำนาจในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 

รวมทั้งกำหนดโทษ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่ให้แยกกักหรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่า ตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ

อ่านข่าวเพิ่ม ชงครม.เพิ่มอำนาจใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อปราบ COVID-19

ทั้งนี้ ซึ่งหลังจาก ครม.อนุมัติหลักการแล้วจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป แต่ยังไม่มีเตรียมนำมาใช้ในปีใหม่นี้ตามที่มีกระแสข่าว หลังจากนี้จะผ่านกระบวนการให้กฤษฎีการตรวจสอบ และเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯตามขั้นตอน ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอว่าหากเป็นกรณีเร่งด่วนอาจจะออกเป็นพระราชกำหนดได้หรือไม่ 

อ่านข่าวเพิ่ม ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ โยงสมุทรสาคร 413 คน

เปิดสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข

1.กำหนดให้อธิบดีกรมควบคุมโรค มีอำนาจประกาศท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักร ที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นโรคติดต่อหรือโรคระบาด เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร

2.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การได้มา เข้าถึง การเก็บรักษา การนำไปใช้ การกำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือผู้ที่เป็นพาหะ

3.กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่กักกัน หรือ แยกกักโรค และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขซึ่งมีอำนาจดำเนินการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น และแพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง

4.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่ของตน รวมทั้งมีอำนาจสั่งการผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค

5.กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

6.ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น กำหนดให้ผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

7.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ใดทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ของโรค รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่ใดๆ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค

8.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือกรณีที่โรคได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดดำเนินการ หรือละเว้นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

9.กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่ง หรือข้อกำหนดตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบขยายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเพิ่มระยะเวลาให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากคนต่างด้าวทั้งที่ได้รับการตรวจลงตราหรือได้รับการยกเว้นที่มีเวลาพำนักไม่เกิน 30 วันตั้งแต่ที่เดินทางเข้ามา ต้องกักตัว 14 วัน ทำให้มีเวลาทำกิจกรรมไม่เพียงพอตามวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาตเข้ามา จึงเห็นควรให้ขยายเวลาพำนักไปอีก 15 วัน จาก 30 วันเป็น 45 วัน โดยมาตรการนี้จะอนุญาตไปจนถึง 30 ก.ย. 2564

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.ไฟเขียวจ่ายผู้ประกันตน 50% ผลกระทบ COVID-19 รอบสอง

เปิดความเชื่อมโยงสมุทรสาครกับ 8 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง