ปลื้ม! ชาวบ้านช่วยดูแลช้างชรา "พังยายเกตุ" ขอความช่วยเหลือ

สิ่งแวดล้อม
29 ธ.ค. 63
18:05
475
Logo Thai PBS
ปลื้ม! ชาวบ้านช่วยดูแลช้างชรา "พังยายเกตุ" ขอความช่วยเหลือ
กรมอุทยานฯ เผยภาพประทับใจชาวบ้าน และอาสาสมัครเข้ากันดูแลช้างป่าชราภาพ "พังยายเกตุ" ในป่าสวนยางหลังพบออกจากฝูงเนื่องจากร่างกายผอม ตาข้างขวาบอดสนิท สัตวแพทย์ ระบุเป็นเรื่องยากที่จะเจอช้างป่าชราออกมาให้คนเห็นและขอความช่วยเหลือ

วันนี้ (29 ธ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์ พืช ได้โพสต์ภาพความประทับใจที่ชาวบ้านและกลุ่มอาสาสมัครในการดูแลช้างป่า "พังยายเกตุ” ช้างป่าชราภาพในป่ารอยต่อ​ 5​ จังหวัด โดยระบุว่า กลายเป็นนางงามมิตรภาพ ระหว่างคนกับช้างป่า สุขภาพดีขึ้น ชาวบ้านอาสาและสัญญา ขอดูแลจนสิ้นอายุขัย ทำทุกวันของยายให้มีความสุข

ทั้งนี้กรณีช้างป่าชราภาพตัวเมีย ที่สภาพร่างกายไม่สามารถดำรงชีวิตในป่ากับฝูงได้ ออกมาขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ตลอดระยะเวลานับเดือนที่ดูแล ตอนนี้ร่างกายดีขึ้น กินอาหารได้มากขึ้น ขับถ่ายเป็นก้อนละเอียดขึ้น

จากการตรวจสุขภาพโดยละเอียด พบตาข้างขวาบอดสนิท และหูตึง ซึ่งเปรียบเสมือนคนชรา ที่ต้องได้รับการดูแล
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาช้างป่าอ.ท่าตะเกียบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าอำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบจ.ฉะเชิงเทรา ติดตามอาการช้างป่าพังยายเกตุ พบว่าแผลปะทุที่ผิวหนังบริเวณขาหลังด้านซ้ายเป็นแผลสด​ เจ้าหน้าที่ให้อาหารเม็ดสำหรับช้าง เพื่อปรับสมดุลจุลชีพในลำไส้ให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น โดยใช้อาหารเม็ดขนาด 0.5 กิโลกรัม ใส่ในกล้วยให้ช้างป่ากิน พบว่าช้างป่าจะเลือกกินกล้วยที่ไม่มีอาหารเม็ดปนก่อน จึงจะปรับวิธีการให้อาหารใหม่ โดยให้อาหารเม็ดก่อนเป็นอย่างแรกในตอนเช้าของทุกวันผสมกับกล้วย

ช้างป่าสามารถกินอาหารได้ปกติ แต่จะเลือกกินมะละกอและขนุนที่สุกงอมเต็มที่ ส่วนหยวกกล้วยจะหั่นทอนให้มีขนาดสั้นลง เนื่องจากถ้าขนาดยาวเกินไประบบย่อยอาหารของช้างป่าไม่สามารถย่อยได้ ทำให้มีปัญหาอุจจาระไม่เป็นก้อนๆ​ ส่วนลักษณะการก้าวเดินปกติ ไม่พบอาการเจ็บขา ก้าวเดินได้ช้าๆ​ การขับถ่าย อุจจาระยังคงสภาพของอาหารที่กินเข้าไปบ้างบางส่วน แต่อุจจาระเป็นก้อนมากขึ้น โดยภาพรวมย่อยได้ดีขึ้น

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ยังมีร่างกายผอม-ตาขวาบอดสนิท 

ลูกตาด้านขวาฝ่อและบอดสนิท ค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย เท่ากับ 2.5/5 จากเดิม 1/5 (หมายเหตุ 1 = ผอมมาก 2 = น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน 3 = น้ำหนักมาตรฐาน 4 = น้ำหนักเกินมาตรฐาน 5 = อ้วน) อาการโดยรวมทั่วไปดีขึ้น สามารถกินอาหารได้มากขึ้น การก้าวเดินปกติอุจจาระเป็นก้อนมากขึ้นและย่อยได้ดีขึ้นตามลำดับและไม่มีอาการหวาดระแวง หรือตกใจต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก 

แนวทางการดูแลต่อไปตลอดในพื้นที่จนสิ้นอายุขัย คือ​ เรื่องอาหารและโภชนาการ​ โดยให้อาหารเม็ดสำหรับช้างป่าผสมกับกล้วย (ปรับมาให้เป็นมื้อเช้า ให้กินอาหารเม็ดได้จำนวนมากๆ ก่อน) เสริมแคลเซียมให้กิน​ ให้ยาบำรุงปลายประสาทต่อเนื่อง

นอกจากนั้นชาวบ้าน อาสา ทหารพราน​ และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ได้ร่วมกัน Big Cleaning พื้นที่ที่ยายเกตุอาศัยอยู่ ด้วยการทำความสะอาดเก็บเศษอาหาร อุจจาระ และปรับพื้นที่ข้างสระน้ำให้ยายเกตุสามารถลงไปกินน้ำได้อย่างปลอดภัย

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ชาวบ้าน-อาสาสมัครช่วยกันดูแล

ในการนี้ทีมชุดมวลชนสัมพันธ์ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้เข้าขอบคุณ ให้กำลังใจและมอบเสบียงอาหาร อุปกรณ์ป้องกันอากาศหนาวและค่าอาหารช้างป่า แก่เจ้าหน้าที่ ชาวบ้านอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าอำเภอสนามชัยเขต กำนันตำบลท่าตะเกียบ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านโปร่งเกตุ และเจ้าของสวนยาง ที่ได้ช่วยกันดูแลจนยายได้รับความปลอดภัยและสุขภาพดีขึ้น

ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากในโลก กรณีช้างป่าชราภาพที่ออกมาให้คนได้พบเห็นและขอการช่วยเหลือ และเป็นภาพสะท้อนที่ดีของการปรับตัว และเข้าใจ เห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างคนกับช้างป่า

ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ของหน่วยงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง