"วิษณุ" แจงเหตุคำสั่งลักลั่น จังหวัด-ศบค.

การเมือง
5 ม.ค. 64
10:07
421
Logo Thai PBS
"วิษณุ" แจงเหตุคำสั่งลักลั่น จังหวัด-ศบค.
"วิษณุ" ระบุสถานการณ์ COVID-19 ขณะนี้ยังไม่ใช้คำว่า "ล็อกดาวน์" แต่เป็นการเพิ่มความเข้มข้นในแต่ละพื้นที่ ยอมรับการออกคำสั่ง-ข้อกำหนด ในช่วงนี้อาจลักลั่นระหว่างจังหวัดและ ศบค. ยังไม่คุยประกาศเคอร์ฟิว

วันนี้ (5 ม.ค.2564) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุก่อนการประชุม ครม. ถึงกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กขอบคุณ ศบค.ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอล็อกดาวน์ 5 จังหวัดภาคตะวันออกว่า ไม่รู้จะเรียกเป็นการล็อกดาวน์หรือไม่ แต่ถือว่าได้มีการเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งมาตรการในขณะนี้นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.กำหนดว่าเป็นการปฏิบัติในระยะที่ 1 และหากสถานการณ์ไปถึงระยะที่ 2 ก็อาจจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นรวมถึงการพิจารณาเรื่องเคอร์ฟิว แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกกี่วันจึงจะเข้าสู่การปฏิบัติในระยะที่ 2 โดยเงื่อนไขที่จะไปสู่ระยะที่ 2 ประเมินจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่สีแดง และแนวโน้มสถานการณ์ในพื้นที่สีเหลืองและสีส้มที่จะถูกปรับไปเป็นพื้นที่สีแดงมากขึ้น ในลักษณะการทวีความรุนแรงรวดเร็ว แต่หากการแพร่ระบาดในช่วง 14-28 วัน ยังมีลักษณะช้าอยู่ก็ให้คงการปฏิบัติอยู่ที่ระยะที่ 1 แต่ถ้าตัวเลขเพิ่มแบบทวีคูณก็ต้องเตรียมตัวเข้าสู่ระยะที่ 2

ทั้งนี้การประชุม ครม.ในวันนี้ไม่ได้มีการพิจารณาถึงการล็อกดาวน์ แต่เป็นการหารือถึงเรื่องต่าง ๆ ตามที่ ศบค.เสนอ พร้อมย้ำว่าขณะนี้อยู่ในมาตราการระยะที่ 1 ซึ่งมีความหนักเบารุนแรง และไม่รุนแรงในแต่ละพื้นที่สลับกันไป พร้อมอธิบายว่าการระบาดในระลอกแรกอำนาจในการสั่งการอยู่ที่ ศบค. ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่สำหรับการระบาดรอบใหม่ในครั้งนี้ ได้คืนอำนาจกลับไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครองการปฏิบัติงานและการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดในการออกคำสั่งต่าง ๆ ไม่ใช่การสั่งโดยตรงด้วยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้นอาจจะเกิดปัญหาความลักลั่นกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์คงต้องเป็นแบบนี้ไปก่อน เช่นเรื่องการกำหนดเวลา และความไม่ชัดเจนสำหรับประชาชนว่าขณะนี้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของจังหวัดใด แต่จำเป็นต้องปล่อยไปสักระยะหนึ่งและค่อยๆ ปรับเข้าสู่มาตรฐาน

แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติในระยะที่ 2 มาตรฐานจะเป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยการเรียกอำนาจคืนกลับมาให้นายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับการเยียวยาให้ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในครั้งนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง