เสียชีวิตคนที่ 66 ป่วย 365 คน ขอชะลอเดินทางถึง 1 ก.พ.

สังคม
6 ม.ค. 64
12:01
3,637
Logo Thai PBS
เสียชีวิตคนที่ 66 ป่วย 365 คน ขอชะลอเดินทางถึง 1 ก.พ.
ศบค.เผยวันนี้ (6 ม.ค.) ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 365 คน เสียชีวิต 1 คน รายที่ 66 โยงสุมทรสาคร รวมผู้ป่วยสะสม 9,331 คน ขอให้ประชาชนหากไม่จำเป็นขอให้งดเดินทางถึง 1 ก.พ. ตัดวงจรแพร่เชื้อ แจง 5 จังหวัดเข้มสูงสุด

วันนี้ (6 ม.ค.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์ COVID-19 ระบุไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 365 คน เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 250 คน แบะการตรวจเชิงรุกแรงงานข้ามชาติ 99 คน ส่วนผู้ที่อยู่ใน State Quarantine 16 คน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 9,331 คน หายป่วย 4,418 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมสะสม 66 คน

ขณะที่ผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 86 ล้านคน เสียชีวิตเพิ่ม 13,043 คน รวม 1.8 ล้านคน ส่วนไทยอยู่อันดับ 130 ของโลก 

สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นชายไทย อายุ 63 ปี อาชีพคนขับรถรับส่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้านใน จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.อยุธยา เริ่มป่วยวันที่ 27 ธ.ค. เริ่มมีไข้ ไอ มีน้ำมูก ก่อนจะพบออกซิเจนในเลือดต่ำ เอกซเรย์ปอดพบปอดอักเสบ จึงตรวจหาเชื้อ COVID-19 จนพบเชื้อ

ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.เริ่มหอบเหนื่อยใส่เครื่องช่วยหายใจ ย้ายไปเข้า ICU และมีอาการไตวาย จึงต้องฟอกเลือดทุกวัน กระทั่งวันที่ 5 ม.ค.หัวใจหยุดเต้น เจ้าหน้าที่เร่งช่วยกู้ชีพ แต่ไม่สำเร็จ เสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลว และอวัยวะภายในล้มเหลวหลายส่วน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีประวัติไปสถานที่เสี่ยงอื่นมีอาชีพเสี่ยงหรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 215 คน อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 35 คน กระจายอยู่ใน 56 จังหวัดเช่นเดิม การค้นหาเชิงรุกในชุมชน แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน 99 คน และอยู่ใน State Quarantine 16 คน

ภาพรวมการติดเชื้อในประเทศไทยยังทแยงขึ้น ขณะที่ต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ พบข่าวว่าห้ามผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 รุนแรง ที่ไม่สามารถรักษาได้เข้าไปที่โรงพยาบาล หรือคือการปล่อยให้เสียชีวิตที่บ้าน เนื่องจากมีเคสจำนวนมาก

 

นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุอีกว่า ที่ประชุม นำโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนเพื่อตรวจหาเชื้อเชิงรุก โดยตั้งเป้าตรวจหาเชื้อเป็นรายชั่วโมง หลังพบผู้ติดเชื้อใน จ.สมุครสาคร จากวันที่ 20 ธ.ค. 63 มีการกระจายตัวไปบางพื้นที่ แต่ในวันที่ 4 ม.ค. พบมีการกระจายไปในหลายพื้นที่ จนไปถึงระดับตำบล โดยส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน

จากข้อมูลพบว่า จ.สมุทรสาคร มีการตั้งโรงงาน 11,467 แห่ง ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.กระทุ่มแบน และ อ.บ้านแพ้ว ขณะที่ตลาดกลางกุ้งมีการกระจายไปหลายพื้นที่ใน จ.สมุทรสาคร ส่วนที่พักอาศัยของแรงงานต่างชาติก็มีจำนวนมากเช่นกัน จึงวางแผนเพื่อตรวจหาเชื้อเชิงรุก ซึ่งหลังจากนี้จะมีรายงานตัวเลขเพิ่มเติมต่อเนื่อง

 

ขู่ยกระดับก่อน 1 ก.พ. หากตัวเลขยังเพิ่ม 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งในเชิงการเคลื่อนย้ายคน การแพร่ระบาดมาจากคนเคลื่อนย้าย หลักการคือจะปิดเฉพาะบางสถานที่แหล่งโรค ที่เชื่อว่าจะแพร่เชื้อโรค ให้อำนาจผู้ว่าฯ แต่ไม่มีล็อกดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิวเหมือนที่เราเคยทำมา

23+5 ที่เป็นพื้นที่เข้มงวดสูงสุด คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด คือ ต้องทำเพิ่ม 3 ข้อหลัก คือ 1.นั่งในรถต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรอง สังเกตอาการ 2.รับการตรวจว่ามีแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" หรือไม่ 3.สอบถามเหตุผลในการเดินทาง ซึ่งมีความยุ่งยากกว่า 49 จังหวัด (ตามที่ สธ.เสนอคือต้องมีเอกสารเช่ นส.ค.,ช.บ.,ร.ย.,จ.บ.,ต.ร.ต้องแสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ภูมิลำเนาของผู้เดินทางด้วย

สำหรับพื้นที่ 49 จังหวัดขึ้นกับ ศปก.จังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดตามความเหมาะสม ขอเน้นย้ำให้ประชาชน “งดหรือชะลอ” การเดินทางโดยไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนจนถึงวันที่ 1 ก.พ.64 เพื่อชะลอการระบาดของ COVID-19

หากตัวเลขยังขยับพุ่งในทิศทางที่ชันขึ้น คงไม่รอถึงวันที่ 1 ก.พ.นี้ ตามที่ประธาน ศบค.ชุดใหญ่เคยบอกไว้ต้องดูเป็นรายวันว่าจะต้องยกระดับ เพราะอาจต้องเข้มขึ้นอีก ดังนั้นขอให้ทุกคนร่วมมือกัน ขออยูบ้านดีที่สุด

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง