เปิดปม : กำแพงกันคลื่น

สิ่งแวดล้อม
7 ม.ค. 64
14:10
3,775
Logo Thai PBS
เปิดปม : กำแพงกันคลื่น
ขณะที่ ชายหาดหลายแห่งกำลังเผชิญปัญหากัดเซาะอย่างรุนแรง แต่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า การแก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างโครงสร้างแข็งจะแก้ปัญหากัดเซาะ หรือ ยิ่งทำให้ชายหาดพังทลายเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ

“หาดกัด เพราะรัฐสร้าง” คือข้อกังวลหลักจากหลายฝ่ายต่อโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น (Seawall) ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ชายหาด ความคุ้มค่าด้านงบประมาณ หรือ ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

ข้อมูลจากกลุ่ม Beach for Life องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งติดตามประเมินผลกระทบจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศสำรวจพบว่าช่วงปี 2556-2562 มีโครงการกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นรวมกัน 74 โครงการ ระยะทางกว่า 34 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน คิดเป็นงบประมาณกว่า 6,900 ล้านบาท พวกเขาเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “การระบาดของกำแพงกันคลื่น”

ปี 2556 คือช่วงเวลาที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เพิกถอนการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ออกจากโครงการกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งความยาว 200 เมตรขึ้นไปด้วยเหตุผลว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นคือภารกิจบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาการตกตะกอนปากร่องน้ำ หากต้องทำ EIA จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันท่วงที

เผือกร้อนกรมโยธาฯ งบสร้างกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศ

ประเด็นการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นกลายเป็นประเด็นร้อนของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐซึ่งครองสัดส่วนจำนวนโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นสูงสุดในปีงบประมาณ 2564 จากการรวบรวมข้อมูลโดย beachlover.net

 

นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการฯ ชี้แจงว่าในปีงบประมาณ 2564 กรมตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะโครงการใหม่ 13 โครงการ เท่านั้น แบ่งเป็นงบปกติ 4 โครงการ งบบูรณาการภาค 8 โครงการ และงบโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 1 โครงการ ส่วนโครงการอื่นๆ นั้น เป็นการผูกพันงบประมาณโครงการเดิมที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง รายละเอียดดังนี้

งบประมาณปี 2564 (โครงการใหม่) จำนวน 13 โครงการ 200.4749 ล้านบาท
งานผูกพันจากงบปี 2563 (โครงการเดิม) จำนวน 19 โครงการ 316.2436 ล้านบาท
งานผูกพันจากงบปี 2562 (โครงการเดิม) จำนวน 14 โครงการ 321.7397 ล้านบาท
งานผูกพันจากงบปี 2561 (โครงการเดิม) จำนวน 15 โครงการ 207.3715 ล้านบาท
รวมทั้งหมด จำนวน 61 โครงการ 1,045.8297 ล้านบาท

รองอธิบดีกรมโยธาธิการฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางหน่วยงานไม่ได้มุ่งสร้างแต่โครงสร้างถาวร แต่พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีหนังสือร้องขอให้แก้ไขปัญหามานั้น เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเดือดร้อนมาก มีการกัดเซาะรุนแรงเกินกว่าที่จะใช้โครงสร้างชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาได้ หรือหากใช้ก็จำเป็นต้องซ่อมแซมบำรุงรักษากันในทุกฤดูมรสุม จึงจำเป็นต้องศึกษาออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างถาวรเพื่อให้การป้องกันชายฝั่งเป็นไปอย่างยั่งยืนและประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของตนเอง

ทุกโครงการมีการศึกษาตั้งแต่แนวลม ลักษณะชายฝั่ง สถิติการกัดเซาะรายปี หากเป็นการกัดเซาะรุนแรงที่กระทบกับประชาชนซึ่งใช้โครงสร้างอ่อนอย่างไม้ไผ่ไม่ได้ เราก็ต้องใช้โครงสร้างแข็งเพื่อแก้ปัญหา

ยิ่งสร้างยิ่งพัง ข้อถกเถียงผลกระทบหลังสร้างกำแพง

ผศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ม.เกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้การก่อสร้างแนวกำแพงกันคลื่นสามารถป้องกันสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่อยู่หลังแนวกำแพงได้จริง แต่โครงสร้างแข็งเช่นนี้ก็มีผลกระทบต่อแนวชายหาดทั้งบริเวณด้านหน้าและด้านข้าง

เมื่อคลื่นเข้ามาปะทะกำแพงด้านหน้า จะเกิดการตะกุยทรายจากชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่นออกไป ส่งผลให้ชายหาดหน้ากำแพงกันคลื่นหายไป ขณะที่ด้านข้างจะได้รับผลกระทบจากการเลี้ยวเบนของคลื่นซึ่งทำให้ชายหาดส่วนถัดไปจากสุดปลายกำแพงกันคลื่นด้านท้ายน้ำ (Downdrift) เกิดการกัดเซาะ

พอเกิดผลกระทบชิ่งไปยังชายหาดที่อยู่ข้างๆ รัฐทำอย่างไรต่อ รัฐก็ใช้โครงสร้างแบบเดิมหรือใกล้เคียงกัน มาสร้างต่อกันเป็นแนวยาวออกไปเรื่อยๆ เพราะมันสร้างง่าย ไม่ต้องรอเวลา ไม่ต้องทำ EIA แล้ว เลยสามารถสร้างต่อไปได้เรื่อยๆ จนมันเกิดเป็นการระบาด

ด้านรองอธิบดีกรมโยธาธิการและการผังเมืองให้ข้อมูลว่า ทางกรมโยธาธิการทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันสามารถคาดการณ์การกัดเซาะในพื้นที่ข้างเคียงได้โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ LITPACK ที่มีความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ เพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

                                                                           ภาพ : กรมโยธาธิการและผังเมือง

นอกจากนี้ กรมโยธาธิการยังกำหนดมาตราการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้แล้ว เช่น การย้ายทรายจากบริเวณที่เกิดการทับถมไปยังบริเวณที่เกิดการกัดเซาะซึ่งทางท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้เอง รวมถึงใช้วิธีการปักไม้ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แล้วว่าเป็นโครงสร้างอ่อนที่สามารถใช้บรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ชั่วคราว

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง