รู้จัก "หมอชนะ" แอปฯ ลดโอกาสติดเชื้อ COVID โดยไม่ตั้งใจ

สังคม
7 ม.ค. 64
16:22
2,828
Logo Thai PBS
รู้จัก "หมอชนะ" แอปฯ ลดโอกาสติดเชื้อ COVID โดยไม่ตั้งใจ
"สมโภชน์ อาหุนัย" หนึ่งในผู้พัฒนาแอปฯ หมอชนะ ยืนยัน แอปฯ ไม่แตะข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใช้งาน ชี้แอปฯ ช่วยแบ่งกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 และลดโอกาสติดเชื้อโดยไม่ตั้งใจ ควบคุมการระบาดได้โดยไม่ต้องล็อกดาวน์

วันนี้ (7 ม.ค.2564) หลังจาก ศบค.มีการกำหนดให้โหลดแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ใช้ควบคู่กับการเดินทางข้ามจังหวัด ในมาตรการควบคุมการใช้เส้นทาง หลายคนอาจตั้งคำถามถึงการทำงานของแอปฯ หมอชนะ

ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์  หนึ่งในผู้พัฒนาแอปฯ หมอชนะ เกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาแอปฯ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามสอบสวนไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ COVID-19

นายสมโภชน์ ระบุว่า แอปฯ หมอชนะ เป็น Track & Trace หรือ การติดตามและหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล โดยไม่แตะข้อมูลส่วนบุคคล คือบอกแค่ว่า "คุณอยู่ที่ไหน คุณอยู่กับใคร" เหมือนการใช้กูเกิลแมป ซึ่งจะบอกรายละเอียดให้รู้แค่ว่าเป็นรถคันหนึ่งบนแผนที่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่โปรแกรมนี้จะมีประสิทธิภาพ เมื่อมีคนใช้มากกว่า 50% ของประชากร

 

รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพให้คนตระหนักว่าการใช้แอปฯ นี้มีประโยชน์อย่างไร หลายคนอาจกลัวเรื่อง Privacy แต่ในความเป็นจริงโปรแกรมนี้เก็บข้อมูลส่วนตัวน้อยกว่าไลน์ หรือกูเกิล เพื่อตอบความกังวลของประชาชนให้ได้อย่างมั่นใจ

ทีมที่สร้างแอปพลิเคชันนี้ตั้งเป้าว่าจะทำให้เป็นโปรแกรมที่ใช้งานจริงสำหรับประชากร 70 ล้านคน ดังนั้น การใช้เซิร์ฟเวอร์จึงเลือกใช้เซิร์ฟเวอร์ที่รองรับการดาวน์โหลดได้มหาศาล พร้อมสร้างโครงสร้างโปรแกรมไม่ให้เกิดคอขวด ซึ่งจะทำให้โปรแกรมเสถียรมาก พร้อมใช้งานจริง ปัญหาอยู่ที่การให้ข้อมูลหรือการสร้างความตระหนักในการใช้แอปฯ เท่านั้น

การ Track & Trace จะมีประโยชน์เมื่อพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้วต้องการรู้ความสัมพันธ์และสถานที่เสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อ โดยตัวซอฟแวร์ จะมี QR Code จะเปลี่ยนสีไปตามความเสี่ยง

แจ้งความเสี่ยง หนุน  Self Quarantine

นายสมโภชน์ ระบุอีกว่า ถ้าทุกคนในประเทศดาวน์โหลด ทุกคนอาจจะเป็นสีเขียวทั้งหมด เมื่อปรากฎว่ามี 1 คน ติดเชื้อ COVID-19 โรงพยาบาลจะมาร์กว่าผู้ติดเชื้ออยู่จุดนี้ แล้วระบบจะสืบสวนไทม์ไลน์อัตโนมัติว่าที่ผ่านมา 7 วัน หรือ 14 วัน ผู้ติดเชื้อไปใกล้ใครบ้าง โดยจะบอกเป็นจุดๆ ไป ก่อนจะเตือนอัตโนมัติในแอปฯ หลังจากนั้น QR Code ของแต่ละคนก็จะเปลี่ยนสีไปตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

หมอชนะจะเป็นเหมือนพาสปอร์ต หรือบัตรประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ดูและระวังกันเอง โอกาสในการติดเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจจะลดลงได้

ทั้งนี้ การจัดการเพื่อควบคุมโรคจะง่ายมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง กรณีร้านอาหาร หากต้องการจะป้องกันการแพร่ระบาด แล้วระบุชัเเจนว่าจะรับเพียงผู้ที่มี QR Code สีเขียวเท่านั้น แล้วแบ่งระดับให้ผู้ที่มี QR Code สีส้ม ซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน โอกาสในการติดเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจจะลดลงได้

 

อย่างไรก็ตาม นายสมโภชน์ ย้ำว่า เมื่อใครพบว่าตัวเองมี QR Code สีส้ม ก็จะรู้สึกต้องการกักตัวเอง หรือแยกออกจากคนที่รักหรือเพื่อนที่สนิท ถือเป็นการ Self Quarantine ตัวเองอัตโนมัติ อัตราการติดเชื้อที่เคยเร็วอยู่ก็จะช้าลง เป็นการแยกคนที่เสี่ยงออกจากคนที่ไม่เสี่ยงโดยธรรมชาติ

ที่วันนี้เรามีปัญหาแล้วล็อกดาวน์ทั้งหมด ทั้งที่มีผู้ติดเชื้อหลักพัน สิ่งที่กำลังเกิด คือ คน 70 ล้านคน กำลังป่วยทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น ถ้ามีวิธีการแยกคนที่เสี่ยง ออกจากคนที่ไม่เสี่ยง สังคมก็จะอยู่ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง