วิธีใช้แอปฯ “หมอชนะ” เตือนภัยโควิด-19 รู้ก่อนเสี่ยง เลี่ยงก่อนติด

สังคม
7 ม.ค. 64
16:11
32,882
Logo Thai PBS
วิธีใช้แอปฯ “หมอชนะ” เตือนภัยโควิด-19 รู้ก่อนเสี่ยง เลี่ยงก่อนติด
แอปฯ “หมอชนะ” ใช้อย่างไร หลัง ศบค.ประกาศให้ประชาชนต้องโหลด หากพบติดเชื้อแล้วไม่โหลดถือว่ามีความผิด ขณะที่ รมว.สาธารณสุขเตรียมเสนอนายกฯ ยกเลิกคำสั่งนี้แล้ว

วันนี้ (7 ม.ค.2564) หลังจากนายกรัฐมนตรี ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกระดับมาตรการป้องกันโรค เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุให้ประชาชนโหลดแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ”

ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวระบุว่า ประชาชนจะต้องติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ควบคู่กับ แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” หากตรวจสอบแล้วติดเชื้อ และไม่พบว่าโหลดแอปพลิเคชัน จะถือว่ามีความผิดด้วย แต่ถ้าป่วยแล้วมี แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ถือว่าไม่มีความผิด

ศบค.บังคับใช้ "หมอชนะ" ติดเชื้อเมินโหลดผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

"อนุทิน" ลั่นไม่โหลดไม่ผิด หลังโซเชียลวิจารณ์สนั่น #หมอชนะ

หลายคนยังไม่เข้าใจว่า แอปฯ “หมอชนะ” ใช้งานอย่างไร

สำหรับแอปฯ “หมอชนะ” จะส่งข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ โดยจะระบุตำแหน่งของผู้ใช้งาน ด้วยระบบ GPS ซึ่งสามารถตรวจความเสี่ยงของผู้ใช้งานหากมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงจะได้รับข้อความแนะนำวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง จากกรมควบคุมโรค ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวถูกออกแบบไม่ให้กระทบต่อสิทธิ์ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

 

ซึ่งในการตอบคำถามในแอปฯ ดังกล่าว แอปฯ จะประมวลผลของผู้ใช้งานว่า มีระดับความเสี่ยงแค่ไหน เพียงไร เป็น 4 ระดับ คือ

1.สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

2.สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

3.สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

4.สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

 

เมื่อตอบคำถามครบถ้วนแล้ว แอปฯ จะรายงานพิกัดของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบ แต่ผู้ใช้งาน จะไม่สามารถมองเห็นหรือทราบได้ว่า ผู้ใช้คนอื่นๆ อยู่ตรงไหนบ้าง แต่แอปฯ จะแจ้งเตือนผ่าน Notification หากผู้ใช้งานเข้าไปในบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะตรวจสอบข้อมูลด้วย GPS และ Bluetooth ของโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของผู้ใช้งาน

ค่าสีในพื้นที่ต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงอัตโนมัติ ตามข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อ ทำให้ทุกครั้งที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และระบบพบว่า ผู้ใช้งานมีประวัติการเดินทางเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นในช่วงที่ผ่านมา

จากนั้น แอปฯ จะแจ้งเตือนผู้ใช้งาน ให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยค่าสีใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้งานเพิ่มความระมัดระวัง ปรับพฤติกรรม หรือปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำในแอปฯ “หมอชนะ” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังผู้อื่นต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง