เตือน! ใส่หน้ากาก "เด็กทารก-1 ขวบ" เสี่ยงกระทบระบบประสาท

สังคม
9 ม.ค. 64
14:07
3,393
Logo Thai PBS
เตือน! ใส่หน้ากาก "เด็กทารก-1 ขวบ" เสี่ยงกระทบระบบประสาท
กรมอนามัย แนะเทคนิคพ่อแม่ประเมินอายุเด็กเล็ก อายุเท่าไหร่ สวมหน้ากากอย่างไรให้เหมาะกับวัยและปลอดภัย ชี้เด็กทารกแรกเกิด - 1 ปี ไม่ควรสวมหน้ากาก เพราะระบบหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง อันตรายต่อระบบประสาท

วันนี้ (9 ม.ค.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ขณะนี้ พบมีการแพร่กระจายเชื้อในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มเปราะบางเป็นอีกกลุ่มที่ต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษนอกจากผู้สูงอายุคือกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ต้องคอยเฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

โดยเฉพาะการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยให้กับเด็ก แต่เนื่องด้วยสรีระและกลไกการหายใจที่ต่างจากผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรเลือกสวมหน้ากากให้เหมาะสมกับเด็กและช่วงอายุของเด็กด้วยเช่นกัน ซึ่งการเลือกสวมหน้ากากป้องกันให้กับเด็กที่เหมาะสมตาม ช่วงอายุเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ขอให้พ่อแม่ปฏิบัติดังนี้

1) เด็กทารกแรกเกิด - 1 ปี พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากาศหรือออกซิเจนจะมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกได้ ในกรณีการใช้วัสดุพลาสติก บังหน้าทารก ความคมของพลาสติก อาจทำให้บาดใบหน้าและดวงตาของทารกได้

2) เด็กอายุ 1-2 ปี เด็กบางคนสามารถถอดหน้ากากเองได้เมื่อรู้สึกอึดอัด หากจำเป็นต้องใส่หน้ากาก ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ใส่เพียงระยะเวลาสั้นที่สุด โดยขณะใส่ควรมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยเพื่อคอยสังเกตหากเด็ก มีการหายใจลำบาก และต้องถอดออกขณะนอนหลับด้วย 


3) เด็กอายุมากกว่า 2 ปี สวมใส่หน้ากากได้ เพราะสามารถถอดหน้ากากออกได้เมื่อรู้สึกอึดอัด ยกเว้นเด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเด็กที่มีความบกพร่อง ทางสมอง พ่อแม่ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่หากเด็กไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัย ผู้ปกครองควรใช้วิธีการจูงใจโดยเลือกขนาดลวดลายให้เหมาะกับเด็ก ชี้ชวนให้เด็กสังเกตบุคคลหรือเด็กวัยเดียวกันที่สวมหน้ากาก หรือมีการให้รางวัลชมเชยด้วยคำพูด ไม่ควรดุด่าและให้ลองสวมใหม่อีกครั้ง

พ่อแม่ควรเน้นการล้างมือบ่อย ๆ ให้กับลูกเพราะเด็กมักจะหยิบเล่นของอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้มือสัมผัสกับเชื้อโรคได้ และหลังจาก การเล่นขอให้เน้นทำความสะอาดบริเวณที่เด็กเล็กเล่น รวมถึงอุปกรณ์ของเล่นด้วยเจลแอลกอฮอล์ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง