"หมอธีระ" เตือน COVID-19 ติดเชื้อซ้ำได้

สังคม
10 ม.ค. 64
14:10
555
Logo Thai PBS
"หมอธีระ" เตือน COVID-19 ติดเชื้อซ้ำได้
รศ.นพ.ธีระ ยกข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์ Clinical Infectious Disease ระบุ "โควิด-19" แม้หายแล้วสามารถติดเชื้อซ้ำอีกได้

วันนี้ (10 ม.ค.2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ COVID-19 โดยระบุ ผู้ป่วยที่หายแล้วสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก

ติดเชื้อแล้วสามารถติดเชื้อซ้ำได้

Harrington D และคณะ เพิ่งตีพิมพ์รายงานในวารสารทางการแพทย์ Clinical Infectious Disease วันที่ 9 ม.ค.2021 รายงานกรณีผู้ป่วยชายอายุ 78 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งโรคเบาหวาน ไตวาย หัวใจขาดเลือด และปอดอุดกั้นเรื้อรังผู้ป่วยเคยติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกในสหราชอาณาจักรช่วงเดือนเมษายน โดยมีอาการน้อย และได้รับการดูแลจนหายจากการติดเชื้อ จากนั้นก็ตรวจพบระดับภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี้) ในเลือดตั้งแต่มิถุนายนจนถึงล่าสุดที่ตรวจในเดือนพฤศจิกายนก็ยังตรวจพบดีอยู่

นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 เป็นระยะ ๆ ตลอดเวลาที่มารับบริการดูแลรักษาโรคต่าง ๆ ในโรงพยาบาล อีก 22 ครั้ง ก็พบว่าไม่ติดเชื้อจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2020

ต่อมาตรวจพบว่าติดเชื้ออีกครั้งช่วง 8 ธันวาคม 2020 และยืนยันอีกครั้งว่าติดเชื้อจริง วันที่ 14 ธันวาคม 2020 โดยผู้ป่วยมีอาการปอดบวมรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้งนี้อาการติดเชื้อรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและน้ำท่วมปอด ตามมา

ผลการตรวจเชื้อไวรัส พบว่า เป็นสายพันธุ์ B.1.1.7 (VOC202012/01) ซึ่งเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ในสหราชอาณาจักรในระลอกสองที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ 

นี่เป็นกรณีศึกษาที่ยืนยันว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนนั้นสามารถติดเชื้อซ้ำได้ คงต้องระมัดระวังกันให้ดี ป้องกันตนเองอยู่เสมอ

...ติดเชื้อแล้วสามารถติดเชื้อซ้ำได้... Harrington D และคณะ เพิ่งตีพิมพ์รายงานในวารสารทางการแพทย์ Clinical Infectious...

โพสต์โดย Thira Woratanarat เมื่อ วันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2021

 

มาตรการนักพนันป่วยจ่ายเอง ยิ่งสร้างปัญหาการระบาด

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเฟสบุ๊ค ระบุถึง กล่าวถึงกรณีที่รัฐจะไม่จะไม่ดูแลกลุ่มคนที่ผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นนักพนัน หรือ ผู้ลักลอบเข้าเมือง ว่า คิดทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาการระบาดที่รุนแรง เพราะคนในที่มืดจะยิ่งหลบในที่มืด ไม่ปรากฏตัว ไม่บอกข้อมูลและไม่ยอมไปตรวจแม้จะไม่สบาย

และกว่าจะรู้กันก็จะแพร่ให้แก่คนในประเทศไปมากมายและเสี่ยงต่อการติดเชื้อในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ในระบบสุขภาพของเราด้วย ดังนั้นการดูแลคนในมุมมืดที่ติดเชื้อนั้นจำเป็นต้องทำไม่ใช่แค่เพราะทำตามหลักจริยธรรมและมนุษยธรรมเพื่อช่วยชีวิต แต่เหตุผลสำคัญคือ การดูแลเพื่อตัดวงจรการระบาดป้องกันไม่ให้แพร่ไปในคนอื่นในสังคม

นี่คือ การลงทุนเพื่อป้องกัน ไม่ได้มองแค่มุมจ่ายเงินรักษาคนอื่นโดยสิ้นเปลือง

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง