"คลัง" เคาะมาตรการ "เสริมสภาพคล่อง-พักหนี้" เยียวยาผลกระทบ COVID-19

เศรษฐกิจ
12 ม.ค. 64
16:55
6,046
Logo Thai PBS
"คลัง" เคาะมาตรการ "เสริมสภาพคล่อง-พักหนี้"  เยียวยาผลกระทบ COVID-19
ก.คลัง ออกมาตรการด้านการเงินเสริมสภาพคล่องและมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน เพื่อดูแล เยียวยาผลกระทบจากไวรัส COVID-19

วันนี้ (12 ม.ค.64) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดรวมทั้งสิ้น 28 จังหวัดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ในการนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขยายวงกว้างมากน้อยเพียงใด

กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีและมาตรการเพิ่มเติมอื่น ๆ ประกอบไปด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

มาตรการเสริมสภาพคล่อง

1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย

1.1.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินคงเหลือประมาณ 7,800 ล้านบาท

2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท

3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยทุกโครงการรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

 

1.1.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อ Extra Cash) วงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.1.3 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้

1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9

2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 ทั้ง 2 โครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564

3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท.ได้มีการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (Soft Loan ธปท.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564

1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน

1.2.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อฉุกเฉิน) วงเงินคงเหลือประมาณ 2,700 ล้านบาท

2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท

3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท

4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ทุกโครงการสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564

 

มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน

2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้)

สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ

2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย

3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก

สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค.ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท.เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมไปถึงช่วยบรรเทาภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างออกไป โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

ธอส. ออก 4 มาตรการเลือกจ่ายหนี้

 

ขณะที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หลังจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ระบาดรอบใหม่ ธอส.มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่เคยหรืออยู่ระหว่างใช้ “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” และ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” รวมถึงลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการฯ ทั้งลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม SMEs ที่มีสถานะปกติ หรือสถานะ NPL ประกอบด้วย

มาตรการที่ 9 สำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการจะต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เข้าร่วมมาตรการระยะแรกผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 - 29 มกราคม 2564

มาตรการที่ 10 สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 11 สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 12 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น 1.ได้ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่เกินมิถุนายน 2564 หรือ 2.พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการระยะแรกได้ที่สาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

 

 

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ต้องการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ 9-11 ระยะแรก ต้องดาวน์โหลดหลักฐานยืนยันว่ามีผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น

ส่วนดอกเบี้ยประจำงวดที่ตัดชำระไม่หมดในขณะที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าทยอยผ่อนชำระได้จนถึง ก่อนวันที่ลูกค้าจะครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้ หรือก่อนปิดบัญชีเงินกู้

สำหรับลูกค้าของธนาคารที่ในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ธนาคารกำหนด และยังมีปัญหาด้านรายได้ทำให้ ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ ธนาคารพร้อมพิจารณาขยายความช่วยเหลือในรูปแบบการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้เป็นรายกรณีต่อไป ส่วนกรณีที่หน่วยงานที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารได้รับผลกระทบจากโควิด-19ให้หน่วยงานมีหนังสือแจ้งมายังธนาคารเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่กู้เงินกับธนาคารต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ 

EXIM BANK พักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง

ด้าน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ออก “มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง” เพื่อเข้าไปดูแล ช่วยเหลือสนับสนุนลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกและผู้ส่งออก ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง (Red zone) สีส้ม (Orange zone) และสีเหลือง (Yellow zone) ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

 

-พักชำระหนี้เงินต้น ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน

-พักชำระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบการอาหารแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้

ภายใต้ “มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง” ลูกค้า EXIM BANK สามารถขอพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยแจ้งความประสงค์ผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร www.exim.go.th หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ดูแลลูกค้า ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2564 โดยธนาคารจะติดต่อกลับภายใน 3 วันทำการ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง