วัคซีน “Sinovac” ทดสอบ 3 ประเทศให้ผลต่างกัน

ต่างประเทศ
13 ม.ค. 64
19:02
8,353
Logo Thai PBS
วัคซีน “Sinovac” ทดสอบ 3 ประเทศให้ผลต่างกัน
แม้อินโดนีเซียจะไฟเขียววัคซีนของ "Sinovac" เป็นชาติแรกของโลก แต่ยังมีอีกหลายประเทศแสดงความกังวลหลังผลการทดสอบวัคซีนตัวนี้ในอินโดนีเซีย ตุรกีและบราซิล พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 แตกต่างกันอย่างชัดเจน

วันนี้ (13 ม.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าวัคซีน CoronaVac ที่พัฒนาโดยบริษัท Sinovac Biotech ของจีน จะเป็นหนึ่งในวัคซีนแถวหน้าของโลก แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้กำลังถูกตั้งคำถาม หลังการทดสอบในอินโดนีเซีย ตุรกีและบราซิล ให้ผลแตกต่างกัน

ผลการทดสอบกับอาสาสมัคร 1,620 คนในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 65.3% แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 91.3% ในการทดสอบกับอาสาสมัคร 3,400 กว่าคนในตุรกี

ปัญหาในการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในอินโดนีเซียและตุรกี คือจำนวนผู้เข้าร่วมการทดสอบยังมีน้อยเกินไปที่จะสรุปได้ ขณะที่บราซิลมีผู้เข้าร่วมกว่า 13,000 คน ถือเป็นสถานที่จัดการทดสอบวัคซีน Sinovac ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุด

 

ผลการทดสอบเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพโดยรวมเฉลี่ย 50.4% ยิ่งสร้างความสับสนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ผ่านมา ข้อมูลจากสถาบันบูตันตันของบราซิล ชี้ว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ 78%

แต่ทีมนักวิจัยชี้แจงว่า ตัวเลข 78% นั้นไม่ได้นับข้อมูลของกลุ่มที่ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงที่ไม่ต้องพบแพทย์เข้าไปด้วย และเมื่อนับรวมเอาจำนวนอาสาสมัครกลุ่มนี้เข้าไปด้วยแล้วก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลงจาก 78% เหลือเพียง 50.4%

สาเหตุที่ทำให้หลายประเทศเกิดความกังวล เป็นเพราะผลการทดสอบของบราซิลคาบเส้นเกณฑ์มาตรฐาน โดยองค์การอนามัยโลกและสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพของวัคซีนไว้อย่างน้อย 50% ขึ้นไป

ความคลุมเครือที่เกิดขึ้น ทำให้ อย.บราซิลต้องขอข้อมูลผลการทดสอบเพิ่มเติมจากสถาบันบูตันตันก่อนอนุมัติให้ใช้งานได้ ขณะที่โฆษกบริษัท Sinovac Biotech ยังคงไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับตัวเลขประสิทธิภาพที่แตกต่างกันใน 3 ประเทศ

 

วัคซีนของ Sinovac ใช้หลักการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม คือการเพาะเชื้อไวรัสจำนวนมากและฆ่าเชื้อให้ตาย การผลิตแบบนี้มีจุดเด่นคือ สามารถเก็บรักษาในตู้เย็นอุณหภูมิมาตรฐาน 2-8 องศาเซลเซียส ทั่วๆ ไปและเอื้อต่อการขนส่ง แต่การผลิตวัคซีนก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เนื่องจาก COVID-19 เป็นไวรัสก่อโรค จึงต้องเพาะเลี้ยงในห้องชีวนิรภัยระดับสูง

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ วัคซีนของ Sinovac ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการทดสอบที่น่าเชื่อถือมากพอ จึงทำให้เกิดความกังวลถึงผลข้างเคียงและภาวะภูมิต่อต้านตัวเอง หรือ Auto-immune Disease จากวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีอย่างน้อย 10 ประเทศและดินแดน ที่สั่งซื้อวัคซีนมาจาก Sinovac โดยอินโดนีเซียมียอดสั่งซื้อมากที่สุด 125 ล้านโดส และรับวัดซีนชุดแรกไปแล้ว 3 ล้านโดส เมื่อเดือน ธ.ค.2563 นอกจากนี้อินโดนีเซียยังถือเป็นประเทศแรกของโลก ที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนตัวนี้ในกรณีฉุกเฉิน ขณะที่ฮ่องกงยังรอผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ หลังจากสั่งซื้อวัคซีนตัวนี้ไปแล้ว 7.5 ล้านโดส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเดิมเข็มแรก! ประธานาธิบดีอินโดฯ ฉีดวัคซีนโควิด sinovac

บราซิลเปิดผลทดสอบวัคซีนของ sinovac มีประสิทธิภาพ 50.4%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง