อย.ขอข้อมูลวัคซีนเพิ่มจาก Sinovac มั่นใจไทยใช้ได้ตามแผน

สังคม
14 ม.ค. 64
11:13
928
Logo Thai PBS
อย.ขอข้อมูลวัคซีนเพิ่มจาก Sinovac มั่นใจไทยใช้ได้ตามแผน
อย.ประสานขอข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีน COVID-19 เพิ่มเติมจาก Sinovac" โดยให้ส่งภายในเดือน ม.ค.นี้ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์ย้ำผลการทดสอบทางคลินิกขั้นสุดท้ายของวัคซีนดังกล่าวที่บราซิลเผยว่าได้ผลร้อยละ 50.4 นั้นไม่ส่งกระทบต่อแผนฉีดวัคซีนในไทย

วันนี้ (14 ม.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยได้ขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัท Sinovac Biotech ของจีนแล้ว รอให้มีการตอบกลับมาอย่างเป็นทางการว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร จากการติดตามการแถลงผลการศึกษาจะพบว่ามีการใช้คำว่าประสิทธิภาพในภาพรวมอยู่ที่ 50.4% นั้นหมายความว่าระหว่างคนที่ฉีดกับไม่ฉีดนั้น มีอัตราการติดเชื้อแตกต่างกัน โดยป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออยู่ที่ 50.4%

ประเด็นคือการทดลองนี้ทำให้พื้นที่ที่มีการระบาดสูง อาสาสมัครส่วนใหญ่คือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป อาจส่งผลต่อภาพรวมของการติดเชื้อ แต่มีข้อมูลเติมว่า 78% ในคนที่ฉีดกับไม่ฉีด มีความต่างเรื่องการป่วยคือป้องกันการป่วยได้ 78%

นพ.ศุภกิจ อธิบายว่า ไม่ว่าบริษัทใดก็ตามที่มีผลทดลองในคนระยะที่ 3 ออกมานั้น แม้ว่าจะเป็นวัคซีนของ Pfizer, Moderna หรือ AstraZeneca ที่มีรายงานประสิทธิผลออกมานั้น เป็นผลการทดลองในระยะต้นๆ ทั้งสิ้น แต่ผลการทดลองสมบูรณ์แบบอาจต้องใช้เวลาอีก 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง จึงจะเห็นว่ามีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงเป็นอย่างไร

พร้อมให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าวัคซีนที่จะเอามาใช้ประสิทธิภาพต้องยอมรับได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า หากเกิน 50% ขึ้นไปสามารถยอมรับให้นำมาใช้ได้และผลข้างเคียงต้องไม่มาก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของไทย โดยทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนคือเดือน ก.พ.นี้จะเริ่มได้

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนต้องทำอย่างรอบคอบ โดยดูเรื่องคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศช่วยกันพิจารณาโดยเร็วและครบถ้วน ทุกมุม ทุกด้าน โดยขณะนี้มี 2 บริษัทที่ยื่นขอจดทะเบียนเข้ามาแล้วคือ AstraZeneca และ Sinovac ซึ่งยังมีข้อมูลบางส่วนยังไม่ครบ จึงได้แจ้งขอให้ยื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบภายในเดือน ม.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม เดิมการยื่นขอขึ้นทะเบียนต้องส่งข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนจึงจะเริ่มพิจารณา แต่สำหรับวัคซีน COVID-19 ที่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องดำเนินการให้เร็ว จึงให้ทยอยส่งข้อมูลได้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทยอยดูข้อมูล แต่การจะพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนได้หรือไม่นั้นจะพิจารณาเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วัคซีน “Sinovac” ทดสอบ 3 ประเทศให้ผลต่างกัน

บราซิลเปิดผลทดสอบวัคซีนของ sinovac มีประสิทธิภาพ 50.4%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง