เปิดปม : ลาวพลัดถิ่น

สังคม
14 ม.ค. 64
14:57
2,370
Logo Thai PBS
เปิดปม : ลาวพลัดถิ่น
กลุ่มคนเชื้อชาติลาว ที่อพยพเข้ามาประเทศไทยด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา ถึงวันนี้บางคนยังมีสถานะเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคล ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ

คนเชื้อสายลาวอพยพเข้ามาในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว โดยปัจจัยหลัก คือ เข้ามาหางานทำและข้ามถิ่นฐานมาตั้งครอบครัวกับคู่สมรส กระทั่ง พ.ศ. 2518 ลาวเกิดปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ เป็นเหตุให้คนลาวกลุ่มใหญ่อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาพึ่งพิงประเทศไทยและตั้งถิ่นฐานมาจนถึงบัดนี้

ปัญหาของคนลาวอพยพในช่วงแรก คือ ไม่เคยถูกรับรองตัวบุคคลทั้งในประเทศไทยและจากประเทศต้นทางคือประเทศลาว ทำให้ตกอยู่สถานะคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตหลายประการ

ช่วง พ.ศ.2530 ประเทศไทยส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยกลุ่มคนลาวอพยพก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการสำรวจเช่นกัน

เมื่อสำรวจแล้ว คนกลุ่มนี้จะได้เลขทะเบียน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 6 และระบุในบัตรว่าเป็นกลุ่มลาวอพยพ แต่จากคำบอกเล่าของผู้ที่ได้รับการสำรวจสมัยนั้นคือ การสำรวจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ทำให้มีผู้ตกหล่นไม่ได้รับการสำรวจจำนวนมาก หลายคนจึงยังเป็นคนไร้รัฐต่อไป

 

ต่อมาใน พ.ศ. 2548 มีการกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิให้กับบุคคล 18 กลุ่มตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 ม.ค. 2548 มีกลุ่มลาวอพยพเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการสำรวจเพื่อทำทะเบียนประวัติบุคคล ผู้ที่ได้รับการสำรวจแล้วจะได้เลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 เลขหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8 และ เลข 9 หรือที่เรียกว่าบัตรเลข 0 กลุ่ม 89

 

ปัญหาของคนเชื้อสายลาวในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัด คือ เมื่อเจ้าหน้าที่สำรวจแล้ว กลับไม่มีความคืบหน้าในการออกบัตรประจำตัวให้ บางแห่งมีการย้ายปลัดอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น และ เมื่อคนใหม่เข้ามากลับหาเอกสารไม่พบ และดำเนินการต่อไม่ได้ ทำให้ผู้ที่ได้รับการสำรวจในช่วงนั้นจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและต้องอยู่อย่างไร้รัฐ-ไร้สัญชาติจนถึงทุกวันนี้

ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา กรมการปกครองมีนโยบายให้จัดทำทะเบียนประวัติให้คนไร้รัฐทั่วประเทศตามกฎหมายมาตรา 38 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 โดยเมื่อจัดทำทะเบียนประวัติแล้วจะได้รับเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 เลขหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 00 หรือที่เรียกว่าบัตรเลข 0 กลุ่ม 00

 

ผู้ที่ได้รับการสำรวจแล้วจะถือว่าไม่เป็นผู้ไร้รัฐอีกต่อไปเพราะประเทศไทยได้ให้การรับรองบุคคลนั้น ๆ แล้ว นอกจากนี้ ผู้ถือบัตรเลข 0 กลุ่ม 00 ยังได้รับสิทธิอยู่อาศัยในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ สำหรับ คนที่อยู่ในวัยทำงานสามารถขออนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมายได้ ส่วนสิทธิในหลักประกันสุขภาพแม้จะไม่ได้สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรี แต่สามารถซื้อหลักประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวได้

เมื่อมีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 จะทำให้เขาเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้มากขึ้น สามารถทำงานได้ 5 ปี เสมือนคนไทย แล้วก็เสียค่าใช้จ่ายการดำเนินการแค่ 100 บาท สามารถเดินทางไปทำงานได้ทั่วประเทศไทย ฉะนั้น จะเห็นว่า ถึงเขาเพิ่งเข้ามาเขาก็เป็นมนุษย์ แต่ถ้าเข้ามานานแล้ว มาตรฐานการปฏิบัติตั้งแต่สภาความมั่นคงแห่งชาติมาก็คือ ปฏิบัติเสมือนคนไทย

                                       รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร  อ.คณะนิติศาสตร์ มธ.

 

แม้มีนโยบายและการสั่งการที่ชัดเจนแต่ที่ผ่านมากลับพบปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติอยู่ไม่น้อย เช่น ระยะเวลาดำเนินการที่สำนักทะเบียนกลางกำหนดว่าต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ยื่นเอกสาร โดยสามารถขอขยายได้อีก 30 วัน รวมเวลาไม่เกิน 60 วัน แต่หลายกรณีกลับพบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนท้องถิ่นดำเนินการเกินเวลาที่กำหนด

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อมีการสำรวจแล้ว เจ้าหน้าที่มักไม่ให้ใบรับคำร้องแก่ชาวบ้านที่ยื่นคำร้อง ทำให้ไม่สามารถติดตามความคืบหน้าได้

ไม่ทราบว่าสำนักทะเบียนแต่ละแห่งได้แจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องมาไหม ส่วน อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้สำรวจรายชื่อเข้ามาก่อน และ ให้บุคคลที่อยู่ในหมู่บ้านกรอกแบบฟอร์มรายละเอียดเบื้องต้นมาให้สำนักทะเบียน เรายังไม่ได้ให้ใบรับคำร้อง เพราะหลายหมู่บ้านกรอกแบบฟอร์มไม่ถูกต้อง ต้องตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นก่อน จากนั้น จะให้ผู้ยื่นคำร้องมาที่อำเภอเพื่อสอบปากคำกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง จึงจะให้ใบรับคำร้อง

                                      ศยามล พรมลี ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียน อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ควรให้ตอนที่เขามาใช้สิทธิ แล้วก็บอกเขาไปว่าจะทำเสร็จวันที่เท่าไร อย่างบางทีเราไปยื่นส่วนราชการ เขาอาจไม่ได้ทำให้ทันที มันก็ปกติ มันต้องมีใบรับคำร้องถูกไหม หรือ ถ้าขาดเอกสารอะไรก็บันทึกในใบรับคำร้องว่าให้เอาสิ่งที่ขาดมาแสดงภายในเวลาเท่าไร ฉะนั้น การปฏิเสธมาตรฐานสากล อยากให้กรมการปกครองคิดดีๆ 

                                      รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อ.คณะนิติศาสตร์ มธ.

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวทางแก้ปัญหาด้านสถานะบุคคลให้กับคนเชื้อสายลาวมาแล้วหลายครั้ง แต่ถึงวันนี้ผ่านมานานกว่า 45 ปี กลับพบว่ายังมีคนเชื้อสายลาวจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในสถานะคนไร้รัฐเพราะยังไม่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคล ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งจากการสำรวจไม่ครบถ้วน หรือเมื่อสำรวจแล้วกลับไม่ดำเนินการต่อให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้รับ

นับตั้งแต่ พ.ศ.2563 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประกาศการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกรมการปกครอง หนึ่งในนั้น คือ การแก้ปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

 

พ.ศ.2564 กรมการปกครองกำหนดเป้าหมายจะแก้ปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้บุคคลจำนวน 14,000 ราย เพิ่มจาก พ.ศ.2563 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 13,300 ราย โดยกลุ่มคนเชื้อสายลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง