สธ.เคาะฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงก่อน ยกเว้นคนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี

สังคม
15 ม.ค. 64
20:01
738
Logo Thai PBS
สธ.เคาะฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงก่อน ยกเว้นคนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี
คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน COVID-19 เคาะแผนฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงก่อน แต่ยังไม่ฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ

วันนี้ (15 ม.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยผลการประชุมของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ อาทิ การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน รวมทั้งด้านวิชาการ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้ 1.ระยะที่วัคซีนมีจำกัด เดือน ก.พ. - เม.ย.2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค COVID-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ เป็นต้น โดยยกเว้นการฉีดให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ

ส่วนระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น ในเดือน พ.ค.- ธ.ค.2564 กลุ่มเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 และจะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ และระยะ 3 ที่วัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

 

ขณะที่ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค อธิบายว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง นอกจากนั้นยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และงบประมาณที่ต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วยอาการหนักกว่า 1 ล้านบาทต่อคน

จากการตรวจสอบผลกระทบของการฉีดวัคซีนในต่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เพราะหลายกรณีเป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรืออาการป่วยอื่นๆ แต่ก็มีบางกรณีที่เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์หลังการฉีด

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนระยะแรกในต่างประเทศจะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด อาทิ วัคซีนโมเดอร์นาฉีดแล้วมีอาการปากเบี้ยว, วัคซีนแอสตราเซนเนกามีอาการไขสันหลังอักเสบ แต่เมื่อสืบสวนพบว่าในประเทศอังกฤษ มีอุบัติการณ์ของไขสันหลังอักเสบในคนทั่วไป รวมถึงคนที่ได้วัคซีนหลอกก็มีอาการนี้ด้วย ดังนั้นต้องติดตามไปอย่างน้อย 1-2 ปี

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง