บก.ปคบ.-อย.เตรียมออกหมายเรียก"กาละแมร์" โฆษณาเกินจริง

อาชญากรรม
19 ม.ค. 64
15:32
2,909
Logo Thai PBS
บก.ปคบ.-อย.เตรียมออกหมายเรียก"กาละแมร์" โฆษณาเกินจริง
บก.ปคบ.เตรียมออกหมายเรียก น.ส.พัชรศรี เบญจมาศ หรือ กาละแมร์ พิธีกรชื่อดัง มารับทราบข้อกล่าวหาภายในสัปดาห์นี้ หลังพบว่า โฆษณาสินค้าไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาสรรพคุณ อันเป็นเท็จ

วันนี้ (19 ม.ค.2564) พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผบ.ตร. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ศารุติ แขวงโสภา รักษาราชการแทน ผบก.บก.ปคบ. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงถึงความคืบหน้า กรณี น.ส.พัชรศรี เบญจมาศ หรือ กาละแมร์ พิธีกรชื่อดัง ที่ทำคลิปวีดีโอบรรยายสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เข้าข่ายอวดอ้างสรรพคุณสินค้าเกินจริง อ้างทานอาหารเสริมช่วยหน้าตึง, ตา 2 ชั้น, จมูกเข้ารูปไม่ต้องพึ่งศัลยกรรม

กรณีดังกล่าว อย.ได้ทำหนังสือมายัง บก.ปคบ.พบการกระทำความผิด 2 ข้อหาคือ ฐานโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และโฆษณาสรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บก.ปคบ.จะรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนออกหมายเรียกไปยัง บริษัท พาวเวอร์ชอต และ น.ส.พัชรศรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหาร เพื่อมาให้ปากคำภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งบริษัทดังกล่าว ได้กระทำความผิดมาแล้วถึง 7 ครั้ง และ อย.ได้เรียกมาเสียค่าปรับแล้ว

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่โฆษณาว่า "กรอบหน้าชัด เหนียงหาย หน้ายก ตาที่เคยหนังตาตกก็เป็นตา 2 ชั้น ฯลฯ นั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ซึ่งการโฆษณาดังกล่าว เป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือ สรรพคุณอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

 
นอกจากนี้ อย.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังทลายแหล่งผลิตและจำหน่ายยา วัตถุออกฤทธิ์ฟิลเลอร์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทางออนไลน์ ที่บ้านพักย่าน อ.เมืองนครปฐม พบของกลาง 100 รายการ มูลค่า 5 แสนบาท

พบแคปซูลบรรจุยาไม่ระบุชื่อ 2 แสนแค็ปซูล และแค็ปซูนเปล่า 1,200,000 แคปซูน, วัตถุดิบยา และอุปกรณ์การผลิต จากการสอบปากคำผู้กระทำความผิดอ้างว่า เคยทำงานเป็นผู้ช่วยเภสัชกร จึงมาคิดค้นผลิตและจำหน่ายยาเอง


เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาว่า เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522

ทางด้าน ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า อย่าซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์ฟิลเลอร์ต่างๆ ทางร้านค้าออนไลน์ เพราะไม่สามารถตรวจสอบว่า เป็นของแท้หรือของปลอม หรือได้มาตรฐานเพียงใด

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจได้รับผลกระทบทางร่างกาย หรือเกิดผลข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง