ไขความลับจากปลอกคอ "ช้างเจ้าดื้อ" แห่งเขาใหญ่

สิ่งแวดล้อม
21 ม.ค. 64
11:40
2,394
Logo Thai PBS
ไขความลับจากปลอกคอ "ช้างเจ้าดื้อ" แห่งเขาใหญ่
กรมอุทยานฯ ชี้เคยติดปลอกคอจีพีเอสให้กับช้างที่หากินนอกเขตป่ามาแล้ว 11 ตัว ส่วนเจ้าดื้อ เป็นโครงการของ มก.ต้องการให้เป็นตัวแทนของช้างป่า เพื่อศึกษาชีวิต และการหากินของช้างบนเขาใหญ่ ยืนยันอุปกรณ์ไม่อันตราย พบตัวแรกยังใช้ชีวิตได้ดี

วันนี้ (21 ม.ค.2564) ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงการใช้อุปกรณ์ติดตามช้างป่า (collar) มีการดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2561 มีเป้าหมายในการติดปลอกคอ ทั้งหมด 67 ตัว ปัจจุบันติดมาแล้ว 11 ตัว คือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี  1 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พื้นที่ป่ารอยต่อ5 จังหวัด จำนวน 7 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว  1 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง 1 ตัว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จำนวน 1 ตัว ส่วนใหญ่การติดปลอกคอช้างของกรมอุทยานฯ จะเน้นช้างที่หากินนอกเขตป่า

ส่วนกรณีของเจ้าดื้อ ซึ่งเป็นช้างป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นงานวิจัยของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ซึ่งเพิ่งติดไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา จากการดูพฤติกรรมของเจ้าดื้อ คาดว่าค่อยๆ ปรับตัวกับปลอกคอจีพีเอสได้ในระดับหนึ่ง

เพราะหากช้างรำคาญ จะพยายามใช้งวงในการดึงออก ซึ่งเคยมีกรณีที่เกิดปัญหากับช้างที่เคยติดปลอกคอไป และต้องถอดออก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับช้าง

อ่านข่าวเพิ่ม ติดปลอกคอ GPS คาดปม "เจ้าดื้อ" เครียดทำร้ายนักท่องเที่ยว

ช้างปรับตัว-ไม่อันตรายกับสัตว์ป่า

ดร.ศุภกิจ ย้ำว่า ตัวปลอกคอจีพีเอสมีการทดสอบทางวิชาการแล้วว่าไม่มีอันตรายกับสัตว์ป่า โดยอุปกรณ์ติดตามสัตว์มีน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม คือไม่เกิน 0.2 % ของน้ำหนักตัว จึงไม่มีผลต่อพฤติกรรม และการใช้ชีวิตระยะยาวของช้าง

สำหรับช้างป่า เป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมเรียนรู้ได้เร็ว ช้างบางตัวอาจรู้สึกมีสิ่งแปลกปลอม อาจจะมีบ้างเหมือนกับคนใส่สร้อยคอ ซึ่งสัตว์จะใช้เวลาในการปรับตัว 3-4 วัน ก็จะคุ้นชิน แต่ระยะยาวจะไม่ผลต่อความเป็นอยู่ การกินอาหารและใช้ชีวิต

จากตัวแรกที่กรมอุทยานฯ เคยติดปลอกคอปี 2561 ตอนนี้พบว่าช้างยังใช้ชีวิตปกติ โดยเครื่องจีพีเอสยังส่งสัญญาณมาต่อเนื่อง ควบคู่กับเจ้าหน้าที่คอยติดตาม และศึกษาพฤติกรรมช้างที่ติดปลอกคอ ทำให้มีองค์ความรู้มากขึ้น

การใช้เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ เพื่อใช้ติดตามพฤติกรรม คำนวณการใช้พื้นที่และการอพยพของช้างป่า ข้อมูลที่ได้เพื่อนำไปวิเคราะห์แนวทางในการรักษาความเชื่อมต่อของผืนป่าเขาใหญ่–ดงพญาเย็น และเป็นแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้าง

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ความลับจากปลอกคอ

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างเจ้าดื้อ เป็นโครงการศึกษาการติดตามการเคลื่อนที่ของช้างป่าโดยปลอกคอสัญญาณดาวเทียมเป็นแบบเรียลไทม์ จะระบุตำแหน่งของช้างป่า หลังปลอกคอบันทึกตำแหน่งพิกัด และส่งข้อมูลผ่านระบบสัญญาณดาวเทียม ทำให้ติดตามช้างป่าที่ติดปลอกคอได้ตลอด 24 ชั่วโมง

การติดปลอกคอจีพีเอส มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อสนับสนุนทั้งงานวิจัยและการจัดการช้างป่า โดยสัญญาณจะถูกส่งไปยังระบบดาวเทียม และส่งสัญญาณมายังภาคพื้นดิน ผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้ทราบพิกัดที่แม่นยำสามารถติดตามพฤติกรรมของช้างป่า เช่น พื้นที่หากิน เส้นทางการเดินของช้างป่าเพื่อนำไปสู่ การป้องกัน และเฝ้าระวังช้างป่ารวมถึงการฟื้นฟูถิ่นอาศัยในพื้นที่ป่าธรรมชาติ

เลือกเจ้าดื้อบนเขาใหญ่ เพราะเป็นตัวที่เด่นมาก และมีความสัมพันธ์กับคน ออกมาถนนบ่อย เป็นช้างที่ต้องการครอบครองพื้นที่ และอาณาเขตหากิน คาดหวังว่าจีพีเอสที่ติดเจ้าดื้อ จะเป็นตัวแทนที่ดี เป็นความลับจะรู้ทั้งหมดว่าช้างบนเขาใหญ่ มีการใช้ชีวิตอย่างไร เดินทางไปถึงไหน พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยในการวางแผนช้างบนเขาใหญ่ได้

นักวิชาการ ระบุว่า ตามหลักต้องติดตามช้างทั้งฝูง เพราะจะมีความแตกต่างของช้างโทน คือเจ้าดื้อ เพื่อให้ครอบคลุมกับโจทย์ที่ตั้งไว้ หากช้างอยู่ตรงจุดไหนจะช่วยแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว รวมทั้งปัญหาความเครียดของสัตว์ป่า 

เจ้าดื้อเป็นช้างที่ใจดี ตอนที่ติดปลอกคอราบรื่น ไม่มีอุปสรรค แต่หลังจากมีข่าวว่าเจ้าดื้อทำร้ายนักท่องเที่ยว รู้สึกตกใจ เพราะหลังจากติดปลอกคอไปก็ยังไม่พบว่าเจ้าดื้อดิ้นรนหรือพยายามถอดปลอกคอ 

ครั้งแรกข้อมูลใหม่ช้างบนเขาใหญ่

นักวิชาการ กล่าวว่า เบื้องต้นมีการตั้งเวลาในการติดปลอกคอเจ้าดื้อ ประมาณ 2 ปีแต่หากพบมีการเคลื่อนที่ออกไปหากินด้านนอกก็สามารถขยายระยะเวลาในการศึกษาได้ ส่วนที่เจอช้างยังเดินช้าๆและหากินอยู่บริเวณผากล้วยไม้หลายวัน แปลความว่าช้างอาจจะใช้เส้นทางอาจจะเลี่ยงที่มีความชัน เพราะเวลาเจอแหล่งอาหารช้างจะหากินเป็นวันๆ หากไปเจอช้างอีกกลุ่มหนึ่งก็จะส่งพิกัดที่ช้างอยู่ ซึ่งถือเป็นข้อมูลใหม่ในการติดตามการเคลื่อนที่ของช้างป่า และเป็นครั้งแรกในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 

นายสัตวแพทย์ เบญจรงค์ สังขรักษ์ สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า การติดปลอกคอช้างป่านั้น ใช้การติดปลอกคอที่เป็นระบบมาตรฐานสากลที่มีใช้กันทั่วโลก โดยจะมีการตรวจหาตัวสัตว์ที่จะทำการติดปลอกคอก่อน จากนั้นจะทำการยิงยาซึม โดยช้างจะไม่ล้มลงเมื่อได้รับยา เมื่อผ่านไปสักระยะ เมื่อช้างเริ่มมีเสียงกรน เจ้าหน้าที่จึงจะเข้าไปติดปลอกคอ ทั้งนี้การติดปลอกคอจะต้องมีการตรวจสุขภาพของสัตว์ก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการดำเนินการติดปลอกคอ เมื่อดำเนินการเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะให้ยาแก้แก่ช้าง ประมาณ 4-5 นาที ช้างก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งกก.สอบเคลียร์ปม "เจ้าดื้อ"ทำร้าย นทท.-ยันปลอกคอยึดวิชาการ

ชงปิดถาวรลานกางเต็นท์ "ผากล้วยไม้" เปิดทางช้างผ่าน

ทำไม? "เจ้าดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่ทำร้ายคนตาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง