มท.1 สั่งทุกจังหวัดเตรียมรับมือภัยแล้งปี 64

การเมือง
22 ม.ค. 64
07:20
1,413
Logo Thai PBS
มท.1 สั่งทุกจังหวัดเตรียมรับมือภัยแล้งปี 64
รมว.มหาดไทย สั่งการทุกจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2564 เน้นย้ำแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน

วันนี้ (22 ม.ค.64) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ประมาณกลางเดือน ก.พ.เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือน มี.ค.จะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการ 7 ด้าน คือ

1) ใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มอบหมายภารกิจให้หน่วยงานรับผิดชอบ 3 กลุ่มภารกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มพยากรณ์ โดยตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า และระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ โดยดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ คณะทำงานของจังหวัด ทำหน้าที่วางแผนการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน รวมทั้งกำหนดแนวทางในการระบายน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้เป็นไปอย่างครอบคลุม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่

กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยจัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย โดยบูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ภาคเอกชน เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหากรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งกำหนดแบ่งพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ และมอบหมายหน่วยงาน ภารกิจ หน่วยสนับสนุนให้ครอบคลุมแต่ละพื้นที่ และพร้อมเผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมง

2) สำรวจ ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ถึงระดับหมู่บ้าน ชุมชน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนรองรับ อาทิ แหล่งสำรองน้ำดิบ แผนการวางท่อน้ำประปา แผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง และแผนจัดสรรน้ำดิบ เพื่อให้การผลิตน้ำประปาเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่

3) ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลผลการสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำของจังหวัด บทเรียนจากการปฏิบัติงาน ปัญหาอุปสรรคจากปีที่ผ่านมา ประกอบการวางแผนบูรณาการและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4) ในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่ โดยเฉพาะพืชสวน ไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษกิจ และให้พิจารณาดำเนินการปฏิบัติการเติมน้ำ โดยประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำฝนหลวงในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย

5) เฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ และส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R (Reduce ลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ และRecycle นำกลับมาใช้ใหม่) รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางคมนาคมที่มีแนวติดคลอง ลำน้ำ หรือแม่น้ำต่าง ๆ สำรวจและกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดการพังทลายของตลิ่ง

6) ให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหารในพื้นที่ สอดส่อง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะกรณีการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากกรณีการแย่งชิงน้ำ

7) สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ตลอดจนมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้น้ำอย่างประหยัด และเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมซ่อมสร้าง บำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง