ศบค.เผยวันนี้เสียชีวิต 2 คน คาดตรวจเชิงรุก จ.สมุทรสาคร พบติดเชื้อ 800 คน

สังคม
25 ม.ค. 64
12:46
1,889
Logo Thai PBS
ศบค.เผยวันนี้เสียชีวิต 2 คน คาดตรวจเชิงรุก จ.สมุทรสาคร พบติดเชื้อ 800 คน
ศบค.เผยวันนี้ (25 ม.ค.64) ติดเชื้อเพิ่ม 187 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน เป็นชายชาวอังกฤษวัย 61 ปีและ หญิงชาวสมุทรสาครวัย 56 ปี ขณะที่มาตรการตรวจเชิงรุก จ.สมุทรสาคร คาดวันนี้พบผู้ป่วย 800 คน เตรียมพร้อม รพ.สนามกว่า 1,000 เตียง

วันนี้ (25 ม.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID19 ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อ จำนวน 99,768,218 คน หายป่วยแล้วจำนวน 71,741,860 คน เสียชีวิตสะสม จำนวน 2,138,942 คน โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด ส่วนไทยอยู่อันดับ 125 ของโลก

 

ขณะที่ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม จำนวน 187 คน ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 177 คน พบใน State Quarantine จำนวน 10 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 13,687 คน หายป่วยแล้ว  จำนวน 10,662 คน และ เสียชีวิตเพิ่ม  จำนวน 2 คน รวมสะสม  จำนวน 75 คน

เสียชีวิต 2 คน

พญ.อภิสมัย กล่าวเพิ่มเติมว่าวันนี้ มีผู้เสียชีวิต 2 คน คนแรกชายชาวอังกฤษ อายุ 61 ปี เดินทางมาจากประเทศอังกฤษในวันที่ 24 ธ.ค.63 โดยถึงไทยวันที่ 25 ธ.ค.63 และเข้า State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี จากนั้นวันที่ 28 ธ.ค.63 มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ในวันที่ 29 ธ.ค.63 ผลตรวจยืนยันติดเชื้อ COVID - 19 ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้นในระยะแรก แต่ผู้ป่วยปฏิเสธการใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการหนักขึ้น และในวันที่ 9 ม.ค.64 แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจแต่อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในวันที่ 24 ม.ค.64 ที่ผ่านมา 

 

ผู้เสียชีวิตคนที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี ชาว จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัว คือ โรคหลอดเลือดสมองโดยไม่ได้ไปสัมผัสพื้นที่เสี่ยง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านแต่สามีสัมผัสกับผู้ส่งปลาที่ จ.สมุทรสาคร โดยวันที่ 21 ม.ค.64 เริ่มมีอาการแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ แพทย์เตรียมใส่ท่อช่วยหายใจ ระหว่างนั้นหัวใจหยุดเต้น แพทย์จึงพยายามกู้ชีพ แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนอง และเสียชีวิตในวันที่ 21 ม.ค.64 ทีมแพทย์มีความสงสัยเรื่องไวรัส COVID-19 จึงทำการตรวจและผลออกพบว่า ติดเชื้อ COVID-19 ในวันที่ 24 ม.ค.64 

ขณะที่ ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการฯ จ.สมุทรสาคร จำนวน 35 คน กรุงเทพฯ จำนวน 20 คน สมุทรสงคราม จำนวน 3 คน ระยอง จำนวน 1 คน และสมุทรปราการ จำนวน 2 คน ส่วนผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน จ.สมุทรสาคร จำนวน 113 คน กรุงเทพฯ จำนวน 2 คน และระยอง จำนวน 1 คน 

 

จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่และสะสม ช่วงวันที่ 18 ธ.ค.63 - 25 ม.ค.64 รวมทั้งสิ้น 8,850 คน มากที่สุด 10 อันดับแรก คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ จันทบุรี นนทบุรี อ่างทอง ปทุมธานี และนครปฐม จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่และสะสม ช่วงวันที่ 18 ธ.ค.63 - 25 ม.ค.64 รวมทั้งสิ้น 8,850 คน มากที่สุด 10 อันดับแรก คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ จันทบุรี นนทบุรี อ่างทอง ปทุมธานี และนครปฐม

พญ.อภิสมัยยังกล่าวว่า ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ เริ่มไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 1-7 วันที่ผ่านมา ขณะนี้มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อกระจาย 63 จังหวัด แต่ช่วงวันที่ 24-25 ม.ค.64 พบผู้ติดเชื้อ 7 จังหวัด ลดลงน้อยกว่าช่วงแรกที่พบกว่า 30 จังหวัด 

"เคสดีเจ" ติดจากผู้ป่วยกลับจาก จ.เชียงใหม่ 

กรณีผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 15 ธ.ค.63 - 25 ม.ค.64 ติดเชื้อรวม 700 คน หากพิจารณาตามไทม์ไลน์การติดเชื้อจะเห็นว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้ เช่น ผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อจากสถานบันเทิง จ.เชียงใหม่ และไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดดีเจมะตูม โดยผู้ป่วยไปงานเลี้ยงและทำให้ผู้ร่วมงานติดเชื้อ ส่วนใหญ่อายุน้อย เริ่มติดเชื้อแต่แสดงอาการไม่ตรงกันและป่วยคนละวัน บางส่วนไม่แสดงอาการ จากกลุ่ม 1 ผู้ป่วยรายแรกเชื่อมโยงไปที่ร้านสูท และเชื่อมไปคลัสเตอร์ที่ 2 และคลัสเตอร์ที่ 3 ที่เชื่อมโยงกับผู้ประกาศข่าว ซึ่งไม่ได้ไปร่วมงานวันเกิดของดีเจ แต่ทั้งหมดเชื่อมโยงจากผู้ป่วยรายแรก

 

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวว่า การสัมผัสผู้ติดเชื้อระยะฟักตัวสั้นที่สุด 2 วัน ระยะแรกอาจยังรู้สึกสบายดี แต่ 2 วันถัดมาอาจเป็นผู้ที่แพร่กระจายเชื้อได้ ปัจจัยสำคัญคือ หากสัมผัสผู้เสี่ยงสูงและถูกไอจามใส่ พูดคุยเกิน 5 นาที อยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเทเกิน 15 นาที และไม่สวมหน้ากาก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงมาก 

ตรวจเชิงรุก 10,000 คน คาดพบ 800 คน วันนี้  

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จ.สมุทรสาคร ตัวเลขผู้ป่วยสะสม 5,480 คน โดยวันนี้สถานการณ์อยู่ในระดับสูง 148 คน มาตรการสัปดาห์นี้จะระดมกำลังตรวจคัดกรองเชิงรุกทั้งในโรงงาน ตลาด ชุมชน หอพัก และอาจมีแพทย์ทหารเข้าร่วมด้วย โดยตั้งเป้าตรวจวันละ 10,000 คน ทำให้มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงกว่า 800 คน และเมื่อได้ตัวเลขจากการตรวจเชิงรุกมาแล้วจะเตรียมมาตรการรองรับ 

 

หากพบผู้ป่วยอาการรุนแรงจะมีเตียงและโรงพยาบาลรองรับเพื่อการดูแลที่เหมาะสม ขณะที่ผู้อาการไม่รุนแรง ได้เตรียมโรงพยาบาลสนาม ล่าสุดมี 1,091 เตียง และจะเพิ่มอีกจำนวนมาก รวมแล้วจะมีโรงพยาบาลสนามกว่า 3,000 เตียง  ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน ให้เข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองเชิงรุก หากเข้ามาช่วยเป้าหมาย 10,000 คนต่อวันจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น 

 

 

https://fb.watch/3e6d3TmiTw/

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง