THE EXIT : จุฬาฯ เตรียมทดสอบวัคซีนโควิดในคน

สังคม
25 ม.ค. 64
19:32
653
Logo Thai PBS
THE EXIT : จุฬาฯ เตรียมทดสอบวัคซีนโควิดในคน
แม้ไทยจัดหาวัคซีน COVID-19 จากบริษัท AstraZeneca และ Sinovac ซึ่งเป็นการจัดซื้อจากต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกัน สถาบันต่างๆ ในประเทศกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามจาก THE EXIT

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2564 พญ.ศันสนีย์ เครก กุมารแพทย์ ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองฟิลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกา ได้รับวัคซีนต้าน COVID-19 ของไฟเซอร์และไบออนเทคครบ 2 โดส เนื่องจากเธอเป็นบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในกลุ่มได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกกว่า 27 ล้านคน ข้อมูลจาก our world in data ระบุว่า สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 ให้ประชากรในประเทศไปแล้วกว่า 17 ล้านโดส ขณะที่สื่อ USA TODAY ระบุว่า มีผู้ได้รับวัคซีนในสหรัฐฯ ไปแล้วร้อยละ 4.9 และมีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นที่ได้รับครบทั้ง 2 โดส ขณะที่ พญ.ศันสนีย์ บอกว่า แม้ว่าได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แต่ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เหมือนช่วงก่อน COVID-19 ระบาด

 

 

 พญ.ศันสนีย์ เครก กุมารแพทย์

พญ.ศันสนีย์ เครก กุมารแพทย์

พญ.ศันสนีย์ เครก กุมารแพทย์

วัคซีนของไฟเซอร์และไบออนเทค หรือ Moderna ที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ในขณะนี้ ต่างเป็นวัคซีนชนิด messenger RNA หรือ mRNA ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุด หลักการของวัคซีนชนิดนี้ คือนำสารพันธุกรรม mRNA เข้าไปในร่างกาย ให้ร่างกายรู้จักส่วนหนึ่งหรือหน้าตาของไวรัส COVID-19 เพื่อสร้างแอนติดบอดี้ต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้และชี้เป้าให้ทีเซลล์เข้ามากำจัด ส่งผลให้ผู้รับวัคซีนไม่ติดเชื้อในอนาคต

จุฬาฯ คาดว่าทดสอบวัคซีนกลาง เม.ย.นี้

ในประเทศไทย วัคซีนชนิด mRNA กำลังถูกพัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวัคซีนต้าน COVID-19 ชนิด mRNA ของศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ จะเป็นวัคซีนตัวแรกจากผู้พัฒนาในประเทศ ที่เริ่มทดสอบกันคนภายในปีนี้

 

 

 

แผนที่วางไว้คือ หลังจากได้วัคซีนต้นแบบจากโรงงาน 2 แห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จำนวน 10,000 โดส กลางเดือน เม.ย.เป็นต้นไป จะเริ่มทดสอบกับคนระยะแรก ในอาสาสมัครจำนวน 72 คน เพื่อหาปริมาณโดสที่เหมาะสม จากนั้นเดือน มิ.ย. - ก.ย.2564 จะทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพในอาสาสมัครจำนวน 600 คน สำหรับการทดสอบในระยะที่ 3 ทางศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯคาดว่า อาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลทางวิชาการในขณะนั้น

"วัคซีน" เก็บรักษาได้ในอุณหภูมิ 5 องศาฯ

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยังเปิดเผยว่า เบื้องต้น วัคซีนที่กำลังพัฒนาอยู่ สามารถเก็บรักษาได้ในตู้เย็นปกติที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ซึ่งได้เปรียบวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์และไบออนเทค ที่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส คาดว่าภายใน 2 เดือนข้างหน้า จะทราบผลที่แน่ชัดเกี่ยวกับอุณหภูมิที่ใช้เก็บรักษาวัคซีน หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผู้พัฒนาในประเทศจะสามารถผลิตวัคซีนแบบ mRNA จำนวน 1 ล้านโดสแรกได้ภายในสิ้นปี 2564

 

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

 

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของการพัฒนาวัคซีนต้าน COVID-19 ในไทยนอกจากมีวัคซีนชนิด mRNA จากศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯแล้ว ยังมีวัคซีนจากบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นวัคซีนชนิดโปรตีน (Protein based Vaccine) ซึ่งเตรียมทดสอบระยะแรกกับคนในเดือน มิ.ย.นี้ ขณะที่ไบโอเทค สวทช. กำลังพัฒนาวัคซีนต้าน COVID-19 จำนวน 3 ชนิดด้วยกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง