ศธ.ประกาศเปิดเรียนทั่วไทย 1 ก.พ.นี้ เว้น จ.สมุทรสาคร

สังคม
27 ม.ค. 64
16:50
550
Logo Thai PBS
ศธ.ประกาศเปิดเรียนทั่วไทย 1 ก.พ.นี้ เว้น จ.สมุทรสาคร
"ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" รมว.ศึกษาธิการ ลงนามในประกาศให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ เปิดเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ ยกเว้น จ.สมุทรสาคร ส่วน กทม.และปริมณฑล ต้องเฝ้าระวังเข้ม ให้เรียนห้องละไม่เกิน 25 คน

วันนี้ (27 ม.ค.2564)  นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ลงนามในประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรรายละเอียดระบุว่า ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 เป็นต้นไป โดยต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับสถานศึกษา ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการของหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานผู้กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ให้ปิดการเรียนการสอนใน จ.สมุทรสาคร ต่อไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดที่ ศบค.กำหนด และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ยังมีอยู่จำนวนมาก

ในระหว่างที่สถานศึกษาต้องปิดเรียนให้ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนดแนวทางจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ เช่น การสื่อสารแบบทางไกล หรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจจัดการเรียนการสอนโดยใบสั่งงานหรือมอบหมายงานตามความหมาะสม โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน

ส่วนสถานศึกษาใน กทม.และปริมณฑล ให้สถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนได้ แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคจองกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการของหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานผู้กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด โดยแต่ละห้องเรียนให้มีนักเรียนไม่เกิน 25 คน กรณีห้องเรียนไม่เพียงพอให้จัดการเรียนการสอนด้วยการสลับวันเรียน

กรมอนามัยชี้โควิด 2 รอบ เด็กติดเชื้อกว่า 270 คน

ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงสถานการณ์ COVID-19 ในกลุ่มเด็กอายุ 0-18 ปี โดยระบุว่า สถานการณ์ COVID-19 ในเด็กอายุ 0-18 ปี เปรียบเทียบรอบแรกกับรอบใหม่ พบว่า ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 14 ธ.ค. 63 พบติดเชื้อ 207 คน และรอบใหม่ 15 ธ.ค. 63 - 21 ม.ค. 64 จำนวน 71 คน รวม 278 คน

ส่วนใหญ่รอบแรกเด็กติดเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในไทย รอบหลังเด็กอยู่ในพื้นที่ จังหวัดเสี่ยงสูง และติดเชื้อจากคนในครอบครัว สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย แต่ยังไม่มีรายงานเด็กเสียชีวิตจาก COVID-19 และยังไม่มีข้อมูลครูนำเชื้อ COVID-19 มาแพร่ให้นักเรียน

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการปิดเรียน พบว่า หากปิดเรียนเป็นเวลานาน เด็กจะขาดการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม การเรียนรู้ลดลง ข้อมูลจากยูนิเซฟ บอกว่าเด็กติดเกมมากขึ้น เด็กในเมืองสั่งอาหารฟาสฟู๊ดมากขึ้น มีโอกาสเสี่ยงเป็นเด็กอ้วน เด็กในชนบทที่ห่างไกล มีบางส่วนไม่ได้รับอาหารกลางวัน ในขณะที่เด็กกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อและหยุดเรียน บางครอบครัวไม่พร้อมการเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ที่บ้านเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ส่วนครูต้องปรับตัว เปลี่ยนระบบการเรียนการสอน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง