กทม.ปัดออกไทม์ไลน์ COVID-19 คลาดเคลื่อน ยึดใบโนเวลแพทย์

สังคม
28 ม.ค. 64
10:38
136
Logo Thai PBS
กทม.ปัดออกไทม์ไลน์ COVID-19 คลาดเคลื่อน ยึดใบโนเวลแพทย์
โฆษก กทม.ชี้แจงไทม์ไลน์ผู้ป่วย COVID-19 ยึดข้อมูลตามใบสอบสวนโรคที่ได้รับจากแพทย์ ชี้ผู้ป่วยให้ข้อมูลเท็จ-ปกปิดข้อมูลเป็นอุปรรค หากสอบสวนพบเอาผิดตามกฎหมาย

วันนี้ (28 ม.ค.2564) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงถึงกระบวนการออกไทม์ไลน์ผู้ป่วย COVID-19 หลังพบปัญหาการเผยแพร่ไทม์ไลน์ผู้ป่วย

โฆษก กทม. เปิดเผยว่า เมื่อผู้ป่วยเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์จะซักประวัติและพื้นที่เสี่ยง จากนั้นจะส่งใบสอบสวนโรค หรือใบโนเวล ไปยังกรมควบคุมโรคและ กทม. และเมื่อ กทม.ได้รับข้อมูลแล้วจะโทรศัพท์ไปตรวจสอบและจะอัพเดทข้อมูลไปตามที่ได้รับแจ้ง โดยหลังจากสำนักอนามัยได้ข้อมูลดังกล่าวมาแล้ว ก็จะมีคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งขึ้น ทำการตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ

ไทม์ไลน์ที่ กทม.ออก เป็นกระบวนการที่ได้รับมา ซึ่งแพทย์ที่ได้รับเคสจะเขียนใบโนเวล เอกสารทุกอย่าง กทม.มี แต่เราก็ถามเพิ่มเติม ซึ่งบางรายตอบ บางรายก็ไม่ตอบ จึงเป็นที่มาของข้อมูล

ทั้งนี้ ก่อนการสอบสวนของ กทม.ทุกครั้ง จะแจ้งให้ทราบชัดเจนว่าเป็นการสอบสวนโดยสำนักอนามัย กทม. ขอให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ เพื่อให้สามารถควบคุมโรคระบาดได้

"ให้ข้อมูลเท็จ-ปกปิดข้อมูล" อุปสรรคสอบสวนโรค

โฆษก กทม. ยังกล่าวถึงผู้ป่วย COVID-19 รายที่ 647 ว่า ใบสอบสวนโรคที่ได้รับมาไม่ค่อยทราบข้อมูล โดยทราบข้อมูลจากการแถลงของผู้ป่วยเอง รวมถึงให้ข้อมูลกับ กทม. เช่น ช่วงวันที่ 10-21 ม.ค. ผู้ป่วยแจ้งว่าไม่ได้ไปที่ไหน จึงเป็นอุปสรรคในการที่จะพิสูจน์ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ทำให้ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมตรวจสอบ

ส่วนผู้ป่วยรายที่ 658 ยืนยันว่าใบโนเวลที่ได้รับมาระบุชัดเจนว่า ผู้ป่วยเดินทางไปโรงแรมบันยันทรีจริง เมื่อวันที่ 9 ม.ค. แต่การสอบสวนโรควันที่ 27 ม.ค. เวลา 18.00 น. ผู้ป่วยบอกว่าไม่ได้ไป แต่มีเพื่อนที่ไปมาหา ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ว่าการสอบสวนโรคในวันแรกจากบุคลากรทางการแพทย์ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

อีกปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนโรค คือ การไม่ให้ข้อมูล ซึ่งก็มีผู้ป่วยที่ไม่ให้ข้อมูล แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยหลายคนให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และขอยืนยันว่า กทม.ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อควบคุมโรค ไม่ใช่การประจาน

สำหรับกรณีผู้ป่วยที่ให้ข้อมูล แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่นั้น ต้องเป็นกรณีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลหรือพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม จึงจะขอสงวนสิทธิ์ได้ แต่ในที่สาธารณะไม่สามารถทำได้ เช่น หากมีเพื่อนมาพบที่ห้อง สิ่งที่ กทม.ทำได้คือการเข้าไปสอบสวนโรคเพื่อนรายนั้น ซึ่งข้อมูลไม่เปิดเผยได้ แต่หากเพื่อนรายนั้นป่วย ก็สามารถเปิดเผยพื้นที่สาธารณะที่ผู้ป่วยไปได้

ยืนยันใช้กฎหมายกับคนปกปิดข้อมูล

โฆษก กทม. กล่าวย้ำถึงการออกไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อล่าช้า เนื่องจากบางเรื่องต้องใช้กระบวนการ และการสอบสวนโรคไม่ได้ทำให้ทราบข้อมูลทั้งหมดในครั้งเดียว แต่ต้องทำหลายครั้ง

พร้อมยืนยันว่า หากได้รับข้อมูลเป็นเท็จก็จะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่จะสามารถแจ้งความได้คือ เจ้าพนักงานควบคุมโรค แต่หากผู้ป่วยยืนยันที่จะไม่ให้ข้อมูลหรือปิดบังข้อมูล ก็สามารถดำเนินการได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนข้อมูลของผู้ป่วย 2 คนว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

ส่วนมากให้ข้อมูลหมดแล้ว แต่ที่ กทม.หนักใจคือเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างสืบสวน

ขณะเดียวกัน กทม.มีกระบวนการสอบสวนโรค "กลุ่มก้อนที่มีงานเลี้ยง" อย่างชัดเจน ขณะนี้ยังไม่ได้ออกไทม์ไลน์ผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน ซึ่งกลุ่มนี้ให้ข้อมูลเป็นอย่างดี ดังนั้นกระบวนการสอบสวนโรที่ทำอยู่ เป็นกระบวนการที่ถูกต้องและมีเอกสารชัดเจน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม.อัพเดตไทม์ไลน์คลัสเตอร์ดีเจมะตูม "นักร้อง-พีอาร์-จนท.รัฐ"

จ่อเอาผิด "บุคคล-โรงแรมดัง" โยงเคสดีเจปกปิดข้อมูล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง