ชี้ช่อง 9,000 คน ร่วมฉ้อโกงเที่ยวด้วยกัน "คืนเงิน" อาจยอมความ

อาชญากรรม
2 ก.พ. 64
12:16
6,322
Logo Thai PBS
ชี้ช่อง  9,000 คน ร่วมฉ้อโกงเที่ยวด้วยกัน "คืนเงิน" อาจยอมความ
รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งกองปราบเร่งขยายผลเครือข่ายทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ให้ตำรวจท้องที่ทั่วประเทศ สอบปากคำผู้ใช้สิทธิลงทะเบียนกว่า 9,000 คนที่เข้าข่ายกระทำผิด "กองปราบ" ชี้ช่องร่วมฉ้อโกง หากยอมคืนเงินอาจจะยอมความได้

ความคืบหน้ากรณีตำรวจกองปราบปรามดำเนินการตรวจสอบเอาผิดโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่ทุจริตฉ้อโกงเงิน โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และได้เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 55 จุด ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และจ.ภูเก็ต จับกุมผู้กระทำผิดได้ 50 คน และขยายผลเอาผิดไปยังประชาชนที่ร่วมทุจริตจำนวนมาก

วันนี้ (2 ก.พ.2564) พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติปภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กล่าวว่าได้เรียกตำรวจที่ควบคุมการสอบสวนจากทั่วประเทศ ร่วมประชุมวางแนวทางการทำคดีทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในวันที่ 4-5 ก.พ.นี้ โดยการประชุม ทางกองบังคับการปราบปราม จะเป็นพี่เลี้ยงวางกรอบประเด็นการสอบสวน เพื่อเป็นแนวทางให้กับตำรวจตามโรงพักต่างๆ ใช้สอบสวนผู้ต้องหาทุจริตโครงการ

สั่งการให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ส่งคณะทำงานไปให้แนวทางการสอบปากคำผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ เราเที่ยวด้วยกันกว่า 9,000 คน ทั่วประเทศ ที่มีลักษณะเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริตในโครงการของรัฐ

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้ มอบหมายให้แต่ละพื้นที่ที่มีผู้กระทำผิด แยกสอบปากคำ ตามแนวทางของพนักงานสืบสวนกองปราบปราม พร้อมกันนี้ให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เร่งขยายผล เนื่องจากยังพบข้อมูลการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตของโรงแรม และร้านค้าเครือข่ายอีกกว่า 900 แห่ง ซึ่งพนักงานสอบสวนกองปราบปราม อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล

กองปราบ เร่งสอบขยายผลพื้นที่ภูเก็ต-ชัยภูมิ 

ด้านพ.ต.อ. เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม กล่าวว่า ได้ตั้งประเด็นการสอบที่จะนำไปใช้เป็นแนวทาง สอบสวนประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ที่อาจเข้าข่ายกระทำผิดขึ้นไว้แล้ว เช่น ใช้สิทธิ์ในโครงการเที่ยวด้วยกันหรือไม่ สมัครเข้าใช้สิทธิ์อย่างไร มีวิธีการสมัครอย่างไร ได้เข้าพักที่โรงแรมจริงตามสิทธิ์หรือไม่ เเละจะคืนเงินหรือไม่ เเละในระหว่างดำเนินการสอบสวนประชาชนที่ร่วมกระทำผิด ทางคณะพนักงานสอบสวนกองปราบ ก็จะมีการหารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และธนาคารกรุงไทย เกี่ยวกับกรณีของประชาชนว่าจะมีดำเนินการทางกฎหมายอย่างไร

เนื่องจากความผิดในคดีดังกล่าวเป็นความผิด “ร่วมกันฉ้อโกง” หากยอมคืนเงินที่ฉ้อโกงไป ก็สามารถยอมความได้ ต่างจากผู้กระทำผิดกลุ่มแรกที่เป็นผู้ประกอบการ โรงแรม ร้านค้า เจ้าของวอยเชอร์ต่างๆ ที่มีการกระทำผิดมากกว่าประชาชนทั่วไปหลายข้อหา

 

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ เจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดี ยังพบว่า แผนประทุษกรรมในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ภูเก็ต จะค่อนข้างแตกต่างกัน โดยในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ประชาชนที่ร่วมกระทำผิดจะได้รับเงินจากการขายสิทธิ์ อยู่ที่ประมาณ 500-1,500 บาท จากนั้นผู้ประกอบการโรงแรมก็นำสิทธิ์ดังกล่าวไปเบิกเงินช่วยเหลือจากภาครัฐคิดเป็นคนละ 9,000 บาท

ส่วนที่ จ.ภูเก็ต ผู้ประกอบการโรงแรมจะให้ประชาชนบางกลุ่มประมาณ 30-40 คน ที่จัดเตรียมไว้มาเที่ยวที่พักฟรี เพื่อจะทำให้ดูเหมือนว่ามีประชาชนมาใช้สิทธิ์จริง จากนั้นก็จะนำสิทธิ์ของประชาชนที่มีผู้จัดหามาให้จำนวนนับร้อยคน ไปเบิกเงินกับทางภาครัฐ ในอัตราคนละ 30,000 บาท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โกงเที่ยวด้วยกัน "ชัยภูมิ-ภูเก็ต" รัฐเสียหาย 100 ล้านบาท

ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ประกอบการ-ร้านค้า ฉ้อโกง "เราเที่ยวด้วยกัน"

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง