ตั้ง "สมศักดิ์ บุญทอง" ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภา

การเมือง
5 ก.พ. 64
12:10
603
Logo Thai PBS
ตั้ง "สมศักดิ์ บุญทอง" ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภา
ประธานสภาลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร 9 คน ที่ประชุมเลือก "สมศักดิ์ บุญทอง" อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นประธาน เผยมีคำร้องเรียน 3 ปีจำนวน 23 เรื่อง เตรียมกลั่นกรองพิจารณาตามกรอบเวลา

วันนี้ (2 ก.พ.2564) นายนิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงรายชื่อคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 9 คน ที่ประธานรัฐสภาได้ลงนามแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564

และที่ประชุมมีมติเลือกนายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นประธานอนุกรรมการจริยธรรม และมีรองประธาน 2 คนคือ พล.ต.อ.วิรุฬ พื้นแสน และพล.ต.อ.ปรุง บุญผดุง โดยมีอนุกรรมการอีก 6 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์, นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ,นายจตุสิทธิ์ ลางคุนานนท์ ,นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม

นายศราวุฒิ ประทุมราช และนางนรรัตน์ พิมเสน อดีตเลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา กรรมการและทำหน้าที่เป็นเลขานุการด้วย ซึ่งถือว่า กลไกการตรวจสอบจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรครบแล้ว และพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบ

ซึ่งคณะอนุฯ มีอำนาจและหน้าที่ 5 เรื่องหลักคือ กลั่นกรองเรื่องร้องเรียนในเบื้องต้น เนื่องจากคณะกรรมการชุดใหญ่ที่เป็น ส.ส.จะไม่เข้ามาพิจารณาในเบื้องต้นเพื่อไม่ให้เป็นการลูบหน้าปะจมูกและให้เกิดความโปร่งใสเป็นกลาง พร้อมให้อนุฯ สรุปความเห็น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการจริยธรรมชุดใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ว่าจะรับเรื่องร้องเรียนหรือไม่

พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะที่ชัดเจนในเรื่องต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย การรายงานผลการพิจารณาพร้อมทั้งข้อมูลและเอกสารประกอบให้คณะกรรมการจริยธรรมชุดใหญ่พิจารณารับทราบดำเนินการต่อไป

เรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคล หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำตามเห็นสมควร และสุดท้ายปฎิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการจริยธรรมชุดใหญ่มอบหมาย ซึ่งคำสั่งการแต่งตั้งครั้งนี้จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนรับทราบต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังเปิดเผยถึงข้อร้องเรียนที่รอการพิจารณามีทั้งหมด 23 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนในปี 2562 จำนวน 4 เรื่อง ปี 2563 จำนวน 13 เรื่อง และปี 2564 จำนวน 6 เรื่อง

ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการจะมอบหมายให้คณะอนุได้พิจารณาตรวจสอบกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด หรือต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหญมีมติรับคำร้อง ตามข้อบังคับจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งสามารถขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในขั้นต่อไป

ส่วนกรณีคำร้องเรียนต่อ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ วันนี้นั้น ขั้นตอนต่อไปจะเข้าตามกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง