ใช้โมเดลตลาดกลางกุ้ง คุมกลุ่มเสี่ยงโรงงานบับเบิ้ล&ซีล 40,000 คน

สังคม
6 ก.พ. 64
15:13
366
Logo Thai PBS
ใช้โมเดลตลาดกลางกุ้ง คุมกลุ่มเสี่ยงโรงงานบับเบิ้ล&ซีล 40,000 คน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เผยใช้โมเดลตลาดกลางกุ้งคุมกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 40,000 คน ในโรงงานขนาดใหญ่ 9 แห่ง ชี้ขณะนี้เป็นช่วงวิกฤตหวังทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการพ้นวิกฤต 28 วัน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ จ.สมุทรสาคร ลดลง

วันนี้ (6 ก.พ.2564) นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ จ.สมุทรสาคร อาจนับได้ว่าเป็นช่วง critical point หรือจุดวิกฤตที่อาจจะเบี้ยวซ้าย เบี้ยวขวา หรือตรงไปตามแผนที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้ เบื้องต้น ทุกคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับมาตรการของภาครัฐเป็นอย่างดี หากยังสามารถอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนย้ายได้จนผ่านไปครบ 28 วัน ก็มีโอกาสที่จะควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ให้อยู่ในวงจำกัด จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงได้


สำหรับกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ จากกลุ่มเป้าหมายบับเบิ้ลแอนด์ซีล 9 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ และมีผู้ติดเชื้อภายในโรงงานมากกว่าร้อยละ 10 โดยขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 7,800 คน โดยตรวจไปแล้วเกือบ 100% ขณะนี้ได้แยกกลุ่มผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลสนามและพื้นที่แยกสังเกตอาการทั้งหมดแล้ว โดยใช้เวลา 10 วัน เพื่อรักษาก่อนกลุ่มนี้จะกลับมาทำงานได้

ขณะเดียวกันประเด็นที่ยังเป็นปัญหาสำคัญ คือ กล่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่มีอยู่ประมาณ 40,000 คน ซึ่งในกลุ่มนี้หากได้รับเชื้อจากผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 วัน จึงจะสามารถตรวจพบเชื้อ COVID-19 ได้ สสจ.สมุทรสาคร จึงได้ตัดสินใจดำเนินการบับเบิ้ลแอนด์ซีลให้กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเหล่านี้ทำงานอยู่ด้วยกัน และสังเกตอาการเป็นเวลา 28 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ติดเชื้อ COVID-19 ก่อนจะกลับไปทำงานตามปกติ

สัปดาห์ที่แล้วตรวจไป 80,000 คน รวมทั้งหมดตรวจไปสะสมเกิน 100,000 คนแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าได้ตรวจทุกพื้นที่จุดเสี่ยงทั้งจังหวัดแล้ว แต่ไม่สามารถตรวจทั้ง 1 ล้านคนในสมุทรสาครได้ ตัวเลขที่ตรวจไปถือเป็น 10% ของทั้งจังหวัดแล้ว


หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะเฝ้าดูอาการว่ากลุ่มเสี่ยง 40,000 คน มีอาการป่วยหรือไม่ หากมีอาการป่วยแล้วตรวจพบเชื้อ COVID-19 ก็จะนำไปรักษา แต่หากไม่มีอาการก็จะตรวจภูมิคุ้มกันทั้งหมดเมื่อครบ 28 วัน ก่อนจะออกจากพื้นที่ได้ โดยคาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์นี้จะมีการตรวจหาภูมิคุ้มกันครั้งแรก และจะตรวจอีกครั้งหลังครบกำหนด ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้เป็นโมเดลเดียวกันกับตลาดกลางกุ้งที่ สสจ.สมุทรสาคร ได้นำมาปรับใช้กับ 9 โรงงานนี้

สำหรับโรงงานอื่นๆ สสจ.สมุทรสาคร ยังจะเดินหน้าค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าตรวจวันละ 2,000 - 3,000 ตัวอย่าง โดยจะพิจารณาจากขนาดและความเสี่ยงของโรงงานแต่ละพื้นที่ คาดจะสามารถสุ่มตรวจได้วันละ 20 แห่ง แห่งละ 100 - 110 ตัวอย่าง จนกว่าจะตรวจครบทั้งหมด 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง