กัมพูชาเริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 ลูกชายฮุน เซน ประเดิมคนแรก

ต่างประเทศ
11 ก.พ. 64
06:47
833
Logo Thai PBS
กัมพูชาเริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 ลูกชายฮุน เซน ประเดิมคนแรก
ไทยเตรียมทดสอบวัคซีน COVID-19 ในคนระยะแรก มี.ค.นี้ ขณะที่กัมพูชาฉีดวัคซีนจากจีนเข็มแรก หนึ่งในนั้นคือลูกชายของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564 พล.อ.ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของผู้นำกัมพูชา เป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ของบริษัทไซโนฟาร์ม โดยกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชากำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐในทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด ซึ่งรวมถึงบุตรที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี ได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก

ขณะที่สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา วัย 68 ปี ยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากอายุมากเกินกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

โดยรัฐบาลจีนสัญญาที่จะมอบวัคซีนไซโนฟาร์มให้กับกัมพูชา 1,000,000 โดส ซึ่งวัคซีนชุดแรก 600,000 โดส ถูกส่งถึงกัมพูชาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้กัมพูชายังได้สั่งซื้อวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์ ขององค์การอนามัยโลกด้วย คาดว่ากัมพูชาจะได้รับวัคซีนอีก 7 ล้านโดสจากโครงการนี้

 

ไทยทดสอบวัคซีนโควิดในคน มี.ค.นี้

ขณะที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการวิจัยทดลอง COVID-19 โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เตรียมทดสอบวัคซีน COVID-19 ในคนระยะแรกเดือน มี.ค.นี้ โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบัน PATH ร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก หรือ ชนิดเชื้อตาย ซึ่งเป็นเป็นเทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้ผลิตวัคซีนหลายชนิด รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

ผลทดลองในสัตว์ทดลองพบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและปลอดภัย หากศึกษาวิจัยครบ 3 ระยะก็จะยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยจะผลิตระดับอุตสาหกรรมที่โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของ องค์การเภสัชกรรมที่ จ.สระบุรี มีกำลังการผลิตปีละ 25-30 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้ไทยมีโรงงานผลิตวัคซีน COVID-19 ในประเทศเป็นแห่งที่ 2 ต่อจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ การพัฒนาวัคซีนของไทย สะท้อนให้เห็นว่าการจัดหาวัคซีนไม่ได้ผูกขาดตามที่วิพากษ์วิจารณ์

 

ขณะที่ ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าแบ่งการทดลองในคนเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเปิดรับอาสาสมัครที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป สุขภาพดีไม่เคยติดเชื้อมาก่อน 210 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงและกลุ่มที่ได้วัคซีนหลอก

ใช้เวลาทดลองประมาณ 1-2 เดือน เพื่อศึกษาขนาดที่เหมาะสมและความปลอดภัยก่อนทดลองในคนระยะที่ 2 คาดจะเริ่มเดือน เม.ย. หรือ พ.ค.นี้ โดยใช้อาสาสมัคร 250 คน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล จากนั้นจะเข้าสู่การทดลองในคนระยะ 3 ซึ่งต้องทดสอบในต่างประเทศที่มีผู้ป่วย COVID-19 จำนวนมาก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง