เปิดปม : โคบาลบูรพา

สังคม
12 ก.พ. 64
15:05
1,154
Logo Thai PBS
เปิดปม : โคบาลบูรพา
มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการโคบาลบูรพา จ.สระแก้ว งบประมาณเกือบพันล้านบาท โดยเฉพาะประเด็น โคเนื้อที่นำมาจัดสรรด้อยคุณภาพ ไม่สร้างรายได้ สร้างภาระหนี้สินให้เกษตรกร ขณะนี้ กรมปศุสัตว์รับรู้ปัญหา เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบหลังหมดโควิด-19

จุดเริ่มต้นปัญหา

เมื่อ 3 ปีก่อน นายละลวย วันดี ชาวบ้าน หมู่ 9 ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อาชีพรับราชการ แต่มีความสนใจทำการเกษตรเป็นอาชีพเสริม ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เกี่ยวกับโครงการโคบาลบูรพา

จึงรวบรวมชาวบ้านประมาณ 50 คน จัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านห้วยใส โดยมีเขาเป็นประธาน ทำสัญญายืมโคเนื้อเพศเมีย จากโครงการมาเลี้ยง หวังสร้างรายได้ โดยไม่คาดคิดว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหา

 

นายละลวยบอกว่า เหตุผลที่ตัดสินใจรวมกลุ่มทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ เนื่องจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ในขณะนั้น อยากเห็นเกษตรกรทำปศุสัตว์แปลงใหญ่ เพราะเชื่อว่า การใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเลี้ยงสัตว์ จะลดต้นทุน ทำให้มีกำไรจากการทำปศุสัตว์มากขึ้น

มีข้อสัญญามากมายว่า ถ้าผมทำเกษตรแปลงใหญ่แล้ว จะมีสิ่งอะไรช่วยสนับสนุนผมบ้าง แต่พอรับวัวมาแล้ว วัวไม่ท้อง ปัญหาต่างๆ มากมาย การมองเห็นปัญหาปศุสัตว์ก็เห็นมาตลอดว่ากลุ่มของเราเริ่มมีปัญหากลุ่มของเราอาจจะไปไม่รอด

นายละลวย ทำสัญญายืมโคเนื้อกับกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2562

เนื้อหาในสัญญาระบุว่า นายละลวยในฐานะผู้ยืม ตกลงยืมโคเนื้อเพศเมีย อายุ 2 ปี 5 ตัว ราคาตามสัญญา ตัวละ 29,900 บาท รวมมูลค่า 149,500 บาท โดยเขามีหน้าที่ดูแลสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง สมบูรณ์ ป้องกันเหตุต่างๆ ที่จะทำให้โคเนื้อเสียหาย

ผู้ยืมต้องมอบลูกโคเนื้อเพศเมีย 5 ตัวแรกของฝูง ที่มีอายุครบ 12 เดือน แก่ผู้ให้ยืม ภายในระยะเวลาโครงการ คือ ปี 2560-2565 กรณีลูกโคเนื้อเป็นเพศผู้ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ผู้ยืม

แต่หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อโครงการ ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และเมื่อถูกบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ยืมต้องส่งมอบโคเนื้อเพศเมียที่ยืม พร้อมลูกเพศเมียที่เกิดจากแม่โคที่ยืมคืนภายใน 7 วัน หรือ หากไม่คืนตามเวลาที่กำหนดในสัญญา ต้องชำระค่าโคเนื้อตามราคาประเมินพร้อมเบี้ยปรับ และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากต้องทำสัญญายืมโคเนื้อเพศเมีย รวมมูลค่า 149,500 บาท แล้ว ยังต้องทำหนังสือกู้ยืมเงิน โครงการโคบาลบูรพากับ สหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาในแต่ละอำเภอที่สังกัดอยู่ วงเงินจำนวน 58,000 บาท มาก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงเรือน ขุดเจาะบ่อบาดาล หรือ บ่อน้ำ ซึ่งชาวบ้านต้องเริ่มคืนเงินต้น ตั้งแต่ปี 2563 และ ส่งคืนที่เหลือทั้งหมดภายในวันที่ 15 มี.ค.2564

นอกจากนายละลวยแล้ว ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการโคบาลบูรพาทุกคนต่างต้องทำสัญญานี้เช่นเดียวกัน

ตั้งแต่สมาชิกในกลุ่มโคบาลบูรพาบ้านห้วยใส ทยอยได้รับโคเนื้อมาเลี้ยงตั้งแต่ปี 2560  พวกเขาบอกว่า พบปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโคเนื้อป่วยและตายจำนวน 96 ตัว หรือ ผสมเทียมไม่ติด

 

สมาชิกในกลุ่มตัดสินใจขายโคเนื้อไป 70 ตัว เพื่อนำเงินมาพยุงส่วนที่เหลือไว้ ทุกวันนี้ โคเนื้อโครงการโคบาลบูรพาจากจำนวน 250 ตัว ที่ได้รับการส่งมอบล็อตสุดท้ายเมื่อปี 2562 จึงเหลืออยู่เพียง 79 ตัว และ ยังไม่มีสมาชิกในกลุ่มสามารถทำตามที่ระบุในสัญญาได้

ดำเนินคดีชาวบ้านโคบาลบูรพา

เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าตรวจสอบสิทธิการครอบครองโคเนื้อกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านห้วยใส เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2563 พบว่ามีโคเนื้อหายไป 166 ตัว

ในวันนั้น เจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านแต่ละคนลงบันทึกถ้อยคำในเอกสารเรื่องเกษตรกรผิดสัญญาโครงการโคบาลบูรพา เนื้อหาส่วนหนึ่งในเอกสารระบุว่า ได้ขายแม่โคเนื้อของโครงการไป เมื่อรวมจำนวนแล้วเท่ากับโคเนื้อที่หายไป

นายประสิทธิ์ ต้อยติ่ง ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว ยืนยันว่า การติดตามตรวจสอบกลุ่มเกษตรกผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านห้วยใส เป็นไปตามขั้นตอน

22 ก.ค.2563 ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว มีหนังสือถึงผู้ยืม เพื่อแจ้งเตือนระยะเวลาส่งคืนโคเนื้อตามเอกสารบันทึกถ้อยคำที่กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อลงลายมือชื่อก่อนหน้านี้ว่า ขายโคเนื้อไป โดยระบุต้องส่งคืนภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. ซึ่งครบกำหนดวันที่ 18 ก.ค.2563 ยังไม่มีการส่งมอบครบจำนวน

 

จากจำนวนสมาชิก 50 คน หนึ่งในนั้นนำโคเนื้อ 5 ตัวย้ายไปสังกัดกลุ่มพื้นที่อื่น ส่วนอีก 3 คนสามารถหาโคเนื้อส่งคืนได้ และ 2 คน ตรวจแล้วมีโคเนื้อครบจำนวน จึงมีสมาชิก 44 คนที่ไม่สามารถส่งคืนโคเนื้อตามจำนวนที่หายไปได้

21 ก.ย.2563 กรมปศุสัตว์มอบอำนาจให้ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์ กับนายละลวยและสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านห้วยใส รวม 44 คน ที่ สภ.คลองน้ำใส คดีนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายละลวย ยืนยันว่า เขาส่งภาพโคเนื้อที่ตาย เลขเบอร์หู และขั้นตอนการฝังซากโคเนื้อบางตัว จากจำนวนที่ตาย 96 ตัว ให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ต.คลองน้ำใส ผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ แต่กลับไม่มีการบันทึกข้อมูลนี้ และ ไม่มีการสอบสวนหาสาเหตุว่า โคเนื้อตาย หรือ ชาวบ้านขายโคเนื้อไปด้วยเหตุผลใด

อย่างไรก็ตามแม้มีการดำเนินคดีกับชาวบ้าน แต่กรมปศุสัตว์ยังไม่บอกเลิกสัญญาโครงการนี้ ขณะที่ ชาวบ้านผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านห้วยใสยังมีความตั้งใจที่จะทำให้ได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา และคาดหวังว่า กรมปศุสัตว์จะผ่อนปรนตามแผนที่เสนอไป

เทงบเกือบพันล้าน ปั้นโคบาลบูรพา

6 มิ.ย.2560 ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลาง 970.5 ล้านบาท ให้กรมปศุสัตว์ดำเนินโครงการโคบาลบูรพา เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ในอ.วัฒนานคร โคกสูง และอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงปศุสัตว์ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560–2565 กลุ่มเป้าหมายเกษตรกร 6,000 คน เลี้ยงโคเนื้อจำนวน 5 ตัว ต่อ 1 คน รวมโคเนื้อ 30,000 ตัว นอกจากนั้นยังดำเนินการจัดหาแพะให้เกษตรกรอีก 3,200 ตัว

 

การประกวดราคาในโครงการโคบาลบูรพา กรมปศุสัตว์ กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะโคเนื้อเพศเมีย ไว้ดังนี้

- ต้องเป็นโคเนื้อเพศเมีย ลูกผสมพื้นเมือง-บราห์มัน หรือลูกผสมพันธุ์อื่นที่กรมปศุสัตว์ส่งเสริม

- มีอายุระหว่าง 1 ปี ครึ่ง – 3 ปี โดยตรวจสอบจากฟันแท้ไม่เกิน 2 คู่ มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 260 กก. ความสูงไม่ต่ำกว่า 115 ซม.

- โคมีสุขภาพดีและมีระบบสืบพันธุ์ปกติ ไม่มีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งพิการ

- ต้องมีเครื่องหมายประจำสัตว์ โคทุกตัวต้องได้รับการตรวจโรคก่อนวันส่งมอบ

- ผู้ขายต้องรับประกันกรณีที่โคตายหลังส่งมอบไปแล้วภายใน 30 วัน หากพบว่าป่วยหรือตาย ต้องเปลี่ยนให้ใหม่ภายใน 60 วัน โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น

 

กรมปศุสัตวจัดซื้อครุภัณฑ์โคเนื้อด้วยการประกาศประกวดราคาโดยวิธีอิเล็กทรอนิคส์ หรือ e-bidding ส่วนแพะใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก โดยผู้ชนะการประกวดราคาจัดซื้อทั้งโคเนื้อและแพะโครงการโคบาล คือ ชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ระบุว่า ผู้รับจ้างจัดส่งโคเนื้อและแพะให้กรมปศุสัตว์ล่าช้า จึงทำการปรับ เป็นเงินรวมกว่า 32 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการขยายระยะเวลาสัญญาการส่งมอบถึง 2 ครั้ง

กรมปศุสัตว์พร้อมเยียวยา

11 พ.ย.2563 ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและแพะโครงการโคบาลบูรพากว่า 500 คน ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อให้ส่งต่อไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเรียกร้อง 4 ประเด็น
- กรณีโคเนื้อและแพะตายไม่ทราบสาเหตุให้นำมาทดแทน ส่วนกรณีไม่ได้แจ้งตายขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
- ขอขยายเวลาการคืนลูกโคเนื้อออกไปเป็น 10 ปี จนถึงปี 2569 ส่วนลูกแพะขอยืดเวลาไปถึงปี 2567
- ขอขยายเวลาชำระหนี้รายละ 58,000 บาท ออกไปถึงปี 2567
- กรณีเกษตรกรถูกดำเนินคดีอาญาขอให้พิจาณาช่วยเหลือ

 

นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น จะส่งคณะกรรมการจำนวน 10 ชุด ลงพื้นที่ จ.สระแก้ว ไปตรวจสอบโครงการนี้ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

การดำเนินการจะไปตรวจสอบ บันทึกข้อมูล ไปดูสัญญารายละเอียด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร สำรวจข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อมาวิเคราะห์ก่อนเข้าคณะกรรมการหาทางช่วยเหลือชาวบ้าน

แม้มีเสียงร้องเรียนจากเกษตรกรส่วนหนึ่ง แต่ นายประสิทธิ์ ต้อยติ่ง ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการนี้ เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการขายลูกโคเนื้อเพศผู้ได้รวมกว่า 10 ล้านบาท และมีเกษตรกรที่สามารถคืนลูกโคเนื้อได้จำนวนกว่าพันคน

โครงการเนี่ยมันไม่ใช่เลวร้าย โครงการเนี่ยส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ แต่ภาพที่เห็นเป็นกลุ่มคนกลุ่มนึงที่ไม่ตั้งใจทำ คนที่เขาตั้งใจทำประสบความสำเร็จมากครับ แต่มันไม่มีข่าว

8 ม.ค.2564 นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ส่งหนังสือไปถึง สภ.คลองน้ำใส ให้ชะลอการดำเนินคดีอาญากับชาวบ้านในโครงการโคบาลบูรพา 44 คน เนื่องจาก ทั้งหมดได้จัดทำแผนส่งคืนโคเนื้อให้โครงการ และ อาจตกลงกันได้ จึงขอให้ชะลอการออกหมายเรียกออกไปก่อน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง