ฝนหลวงบินกว่า700เที่ยวเติมน้ำตะวันออก ‘อีสาน-กลาง’นาข้าววิกฤต-สังขละบุรีฝนถล่ม

สิ่งแวดล้อม
25 มิ.ย. 58
09:38
132
Logo Thai PBS
ฝนหลวงบินกว่า700เที่ยวเติมน้ำตะวันออก ‘อีสาน-กลาง’นาข้าววิกฤต-สังขละบุรีฝนถล่ม

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก บินทำฝนหลวงช่วยเกษตรกรแล้วกว่า 700 เที่ยวบิน และเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำแถบระยอง แต่เมฆไม่ก่อตัว ขณะที่กว๊านพะเยาปิดประตูระบายน้ำทั้ง 2 บาน เพราะน้ำเหลือน้อย เกรงว่าจะไม่พอผลิตน้ำประปา ส่วนในลุ่มเจ้าพระยาเกษตรกรอ.ไชโย จ.อ่างทอง เร่งสูบน้ำเข้านากว่า 3 พันไร่ที่แล้งหนัก ส่วนในภาคอีสานทั้งอุดรฯ อุบลฯ ศรีสะเกษ กำลังวิกฤตเช่นกัน สำหรับที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ชาวบ้านต้องช่วยกันเฝ้าระวังน้ำป่าเข้าท่วมบ้านเรือน หลังเกิดฝนตกหนักอย่างหนัก

วันนี้ (25 มิ.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก นำเครื่องบินคาราวาน 4 ลำ ขึ้นบินจากสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่ หลังประชาชนหลายจังหวัดร้องขอฝนหลวง โดยพื้นที่ภาคตะวันออกตอนบน คือ นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่นาข้าว บินทำฝนหลวงไปแล้ว 725 เที่ยวบิน ทำให้มีฝนตกกว่าร้อยละ 90 ส่วนพื้นที่ระยอง บินมาแล้ว 328 เที่ยวบิน พื้นที่เป้าหมาย คือ อ่างเก็บน้ำดอกกราย, หนองปลาไหล และประแสร์ แต่ยังมีอุปสรรคเนื่องจากเมฆไม่ก่อตัว

ขณะที่ชาวนาในต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง รวมเงินกันติดตั้งเครื่องสูบน้ำกว่า 20 เครื่อง บริเวณคลองส่งน้ำ 11 ซ้าย ชัยนาท-อยุธยา เพื่อสูบน้ำเข้านาที่กำลังขาดน้ำกว่า 3,000 ไร่ โดยเกษตรกรระบุว่า ตามข้อตกลงชลประทานจะปล่อยน้ำเป็นรอบ รอบละ 7 วัน แต่เมื่อถึงกำหนดพบว่า ระดับน้ำที่ไหลลงคลองชลประทานมีน้อย จึงต้องใช้เครื่องสูบดึงน้ำเข้านา

ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอ.นครหลวง จ. พระนครศรีอยุธยา ที่ลดลงต่อเนื่องส่งผลให้ความกว้างของแม่น้ำแคบลง คนขับเรือต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือมากขึ้น ล่าสุดมีการจัดคิวการเดินเรือ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือชนกัน

นอกจากนี้ สถานการณ์ภัยแล้ง ยังส่งผลกระทบกับชาวบ้านใน 7 หมู่บ้าน ในต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ ได้จัดซื้อน้ำประปาเที่ยวละ 150 บาท มาแจกจ่ายให้ชาวบ้านเก็บไว้ใช้ แต่ยังไม่พอกับความต้องการ

อย่างไรก็ตามภาวะฝนทิ้งช่วงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้นาข้าวเริ่มเหี่ยวเฉา ชาวนาในอ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ต้องสูบน้ำจากบ่อบาดาล เข้าหล่อเลี้ยงต้นข้าว ที่ขาดน้ำนานกว่า 2 เดือน ส่วนนาข้าวที่อยู่นอกเขตชลประทาน จ.อุบลราชธานี เริ่มยืนต้นตาย เกษตรกรถอนวัชพืชออกจากแปลงนา เพื่อไม่ให้แย่งน้ำจากต้นข้าว

ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เตรียมส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่นาข้าวเสียหาย ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ หลังงดส่งน้ำมานานกว่า 1 เดือน เนื่องจากปริมาณน้ำน้อย ปัจจุบันมีน้ำเหลือเพียง 27 ล้านลูกบาศก์เมตร

เช่นเดียวกับที่จ.พะเยา เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ปิดประตูระบายน้ำกว๊านพะเยา ทั้ง 2 บาน เพื่อเก็บน้ำไว้ผลิตน้ำประปา และรักษาระบบนิเวศ หลังกว๊านพะเยามีระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือปริมาณน้ำเพียง 16 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนไม่ตกภายในสองสัปดาห์นี้ คาดว่าจะมีน้ำไม่พอใช้

ส่วนพื้นที่การเกษตร ชาวบ้านในหลายจังหวัดเร่งหาแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน อย่างที่ต.หูกวาง อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ชาวบ้านเรี่ยไรเงินจ้างรถแบ็คโฮขุดร่องน้ำกลางแม่น้ำปิง เพื่อผันน้ำเข้าที่นาและผลิตประปาหมู่บ้าน ขณะที่ชาวต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ขุดเจาะบ่อบาดาลกลางแม่น้ำยม เพื่อหาน้ำมาใช้ในนาข้าว ซึ่งการเจาะบ่อบาดาล 1 บ่อจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้ว ยังมีบางพื้นที่ที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก จนเกิดน้ำท่วม เช่น ที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ผู้ประกอบการแพริมแม่น้ำซองกาเลีย และชาวบ้านช่วยกันเก็บขยะที่ลอยมาติดสะพานลูกบวบ ซึ่งเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ชาวบ้านสร้างขึ้น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของอ.สังขละบุรี หลังกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้พัดเศษไม้และขยะจำนวนมาก ลอยมาติดสะพานดังกล่าว และอาจทำให้สะพานลูกบวบเสียหายได้

ขณะที่ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านต้องคอยจัดเวรยามเพื่อเฝ้าระวังน้ำป่าที่อาจเข้าท่วมบ้านเรือน หลังจากที่พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น และกระแสน้ำไหลเชี่ยวขึ้น จนผู้ประกอบการแพต้องเคลื่อนย้ายแพออกจากร่องน้ำ ป้องกันกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวทำความเสียหายให้กับแพ

สำหรับฝนที่เกิดในระยะนี้ เป็นอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำ จากพายุโซนร้อนคูจิระ ที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเมื่องช่วงเช้าที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น
ส่วนที่จ.ตราด ชาวบ้านหมู่ 1 และหมู่ 4 ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร หลังฝนลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดวานนี้ จนน้ำเอ่อล้นอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ และเข้าท่วมบ้านเรือนหลายสิบหลังคาเรือน

ชาวบ้านบางส่วนต้องขนข้าวของ และอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยเป็นการชั่วคราว ซึ่งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งให้ความช่วยเหลือแล้ว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง