ลงทะเบียน "เราชนะ" วุ่นทั้งแออัด-ล่าช้า

เศรษฐกิจ
15 ก.พ. 64
19:47
319
Logo Thai PBS
ลงทะเบียน "เราชนะ" วุ่นทั้งแออัด-ล่าช้า
บรรยากาศลงทะเบียนโครงการ "เราชนะ" ของกลุ่มเปราะบางในวันแรก สะท้อนภาพการจัดการที่ไม่ลงตัว โดยประชาชนเดินทางไปลงทะเบียนที่ธนาคารเป็นจำนวนมากเกินกว่าศักยภาพในการรองรับของธนาคารกรุงไทยจะรับไหว

วันนี้ (15 ก.พ.2564) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน เร่งนำตัวผู้สูงอายุออกจากธนาคารกรุงไทย สาขาปัว หลังเดินทางมาลงทะเบียนโครงการเราชนะ ตั้งแต่ช่วงเช้า แต่จำนวนประชาชนที่มารอลงทะเบียนจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัด จนผู้สูงอายุเป็มลมหมดสติถึง 2 คน

นอกจากนี้จำนวนคนที่มาก ยังล้นจากหน้าธนาคาร ล้ำเข้าไปในผิวการจราจร ส่วนสาเหตุที่มีประชาชนไปลงทะเบียนพร้อมกันจำนวนมาก มีรายงานว่าเกิดจากผู้ใหญ่บ้านบอกลูกบ้านว่าสามารถลงทะเบียนได้ในวันนี้ แต่ไม่ได้แจ้งว่า ยังมีเวลาให้ลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 25 ก.พ.2564

ส่วนที่หอประชุม ที่ว่าการอำเภอสันทราย จ.เชียงใหม่ ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ต่างทยอยมาลงทะเบียน บางส่วนบอกว่า การลงทะเบียนลักษณะนี้ เป็นผลดีต่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และ คนยากจนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

ความวุ่นวายและความแออัดยังเกิดขึ้นในแทบทุกจังหวัดภาคเหนือ และหลายคนต้องผิดหวังเพราะทางธนาคาร จำกัดการรับลงทะเบียนเพียงวันละไม่เกิน 100 - 200 คน

ผู้สูงอายุชาวจังหวัดเพชรบูรณ์บางส่วน ไม่เคยได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเยียวยาของรัฐบาลเพราะใช้เพียงโทรศัพท์มือถือแบบปุ่มกด จึงนั่งรถโดยสารมาตั้งแต่ 07.00 น. แต่กลับพบว่าคิวเต็มแล้ว จึงต้องกลับบ้านและจะมาใหม่ในวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.2564) ให้เช้ากว่าเดิม

ขณะที่ผู้สงอายุบางส่วน เดินทางไปธนาคารกรุงไทย สาขาบางบัวทอง จ.นนทบุรี แต่ประสบปัญหาในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่

ล่าสุด ตัวแทนธนาคารได้เดินทางไปพบกับผู้สูงอายุคนดังกล่าวและนำกระเช้าไปมอบให้และทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแค่ในต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาความแออัด วันนี้ทีมข่าวสำรวจสาขาธนาคารกรุงไทยในกรุงเทพมหานคร ก็มีผู้ใช้บริการจำนวนมากไม่ต่างกัน ทำให้ประชาชนบางคน มองว่า การให้ผู้สูงวัยต้องมาลงทะเบียนด้วยตัวเอง เป็นเรื่องยุ่งยากในระดับหนึ่ง และไม่สะดวกกับผู้สูงวัย

ขณะที่ การดำเนินการลงทะเบียน และยืนยันตัวตนมักประสบปัญหาความล่าช้า ในขั้นตอนบันทึกรหัสยืนยันตัวตน เนื่องจาก ผู้ลงทะบียน ที่สูงอายุมักหลงลืมรหัส หรือ กดรหัสบนเครื่องอีดีซี ไม่ถนัด เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย จึงแนะนำให้ เขียนบันทึกรหัส ไว้ในกระดาษ บ้างก็จดบันทึกบนฝ่ามือตัวเอง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง