ผ่าตัดสำเร็จ! "มะเร็งรังไข่ยักษ์" หนัก 25 กิโลกรัม

ภูมิภาค
16 ก.พ. 64
10:14
4,513
Logo Thai PBS
ผ่าตัดสำเร็จ! "มะเร็งรังไข่ยักษ์" หนัก 25 กิโลกรัม
ทีมสูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัด "มะเร็งรังไข่" ขนาดยักษ์น้ำหนักกว่า 25 กิโลกรัม จากหญิงอายุ 43 ปีได้สำเร็จ เตือนภัยมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ให้สังเกตอาการท้องอืด ปวดท้อง คลำเจอก้อนในท้อง เบื่ออาหาร

วันนี้ (16 ก.พ.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ เผยแพร่ข้อมูลการผ่าตัดมะเร็งรังไข่ ของทีมแพทย์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2563 ทีมสูตินรีแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์ นำโดย พญ.อัญชลี ชัยนวล สูตินรีแพทย์ อนุสาขามะเร็งนรีเวช
โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ทำการผ่าตัด ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 43 ปี มีอาการท้องอืด ท้องโตขึ้นเรื่อยๆ มาประมาณ 5-6 เดือน

คลำพบก้อนที่ท้องขนาดใหญ่ แพทย์ได้ทำการตรวจอัลตร้าซาวด์พบว่าเป็นก้อนขนาดใหญ่ที่รังไข่ จึงได้ทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก น้ำหนักก้อนเนื้องอกประมาณ 25 กิโลกรัม ผลการผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลังผ่าตัดพบว่าผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็งรังไข่ จึงได้ให้การรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัดและตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง 

รู้จักมะเร็งรังไข่ ภัยใกล้ตัวผู้หญิง

โดยแพทย์ได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยให้เปิดเผยภาพและประวัติ เพื่อเป็นการเตือน เนื่องจากมะเร็งรังไข่ เป็นภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิง โดยระบุว่า เนื้องอกรังไข่  คือก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นที่ตัวรังไข่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เนื้องอกรังไข่ธรรมดา และมะเร็งรังไข่ 

อาการเบื้องต้นของเนื้องอกรังไข่ทั้งสองชนิด มักมีอาการคล้ายกัน แต่การแยกให้ได้ว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็งนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากความรุนแรงและการพยากรณ์โรคต่างกัน เนื้องอกรังไข่ธรรมดา รักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด แต่สำหรับมะเร็งรังไข่นั้นหลังผ่าตัดอาจต้องมีการให้ยาเคมีบำบัดและรักษาต่อเนื่อง เพราะมีการลุกลามและสามารถกลับเป็นซ้ำได้

มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในสตรีไทย และถ้านับเฉพาะของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มะเร็งรังไข่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตัวมดลูก โดยอุบัติการณ์ของมะเร็งรังไข่คือ 5.7 ต่อประชากรสตรี 100,000 คนต่อปี พบได้ในสตรีทุกช่วงวัย แต่พบได้มากในช่วงอายุ 40-60 ปี (ข้อมูลจากสถิติมะเร็งปี 2562 และ Cancer in Thailand 2013-2015 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ)

สาเหตุมะเร็งรังไข่ 

สาเหตุของมะเร็งรังไข่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยส่งเสริม โดยพบว่าสตรีที่มีภาวะดังต่อไปนี้ มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ สตรีที่ไม่มีบุตร สตรีที่เคยเป็นมะเร็งที่เต้านม มะเร็งมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหาร มีประวัติญาติพี่น้องในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่
สตรีที่มีการตกไข่ อย่างต่อเนื่องทุกเดือน ประจำเดือนมาถี่ หมดประจำเดือนหรือเป็นวัยทองช้า

อาการและอาการแสดง อาจไม่มีอาการ แต่แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจหน้าท้อง หรือตรวจภายใน อาการอืดท้อง ปวดท้อง ท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น อึดอัดแน่นในท้อง คลำได้ก้อนในท้อง เบื่ออาหาร
คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารได้น้อย น้ำหนักตัวลดอาจมีอาการขับถ่าย หรือปัสสาวะลำบาก หากก้อนเนื้องอกไปกดเบียด

เนื่องจากมะเร็งรังไข่ในระยะแรก ๆ มักไม่มีอาการ และไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง การป้องกันจึงทำได้ยาก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ รับการตรวจภายในหรือตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง โดยแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง