"สุริยะ" ปัดให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ แลกถอนฟ้อง

การเมือง
17 ก.พ. 64
10:58
374
Logo Thai PBS
"สุริยะ" ปัดให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ แลกถอนฟ้อง
รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ให้อาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ของ บ.อัคราฯ จำนวน 44 แปลง เนิ้อที่กว่า 4 แสนไร่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องของอนุญาโตตุลาการ

วันนี้ (17 ก.พ.2564) ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 2 น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้คุณธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ปกปิดความผิด และไม่คำนึงผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งทั้งหมดเริ่มมาจากการทำรัฐประหาร เมื่อปี 2557 

น.ส.จิราพร ยังอภิปรายถึงคดีเหมืองทองอัคราว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจ ม.44 ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำ ส่งผลให้ บ.อัครา ต้องยุติกิจการ และเป็นเหตุให้ บ.คิงส์เกต ฟ้องประเทศไทย ซึ่งมีการประเมินว่า ไทยอาจจะแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าเสียหายมากถึง 22,500 ล้านบาท การที่นายกฯ มอบหมายให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้แจงปิดเหมืองแร่เพราะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยืนยันคำชี้แจงนั้นไม่เป็นความจริง มีเอกสารลับที่เป็นผลการตรวจสอบจาก 4 กระทรวง ระบุว่ายังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าการทำเหมืองแร่ของ บ.อัครา สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ และมีการเสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาเหมืองทองให้ พล.อ.ประยุทธ์ คือ 1.เลือกใช้กฎหมายปกติ ดำเนินการเป็นขั้นตอน และ 2.ใช้อำนาจ ม.44 ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เลือกใช้อำนาจ ม.44 แม้มีหน่วยงานคัดค้าน แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่ไร้ความรับผิดชอบและส่งผลต่อประเทศ

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า ขอยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไมได้เป็นการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องของอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด เนื่องจากมีการยื่นเรื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และ พ.ศ.2548 แต่คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติให้ชะลอการสำรวจแร่ในขณะนั้นออกไปก่อน เนื่องจากห่วงใยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กลับไปศึกษา และจัดทำนโยบายแร่ทองคำซึ่งทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2552

ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา ต่อมาในเดือน พ.ค.2554 กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาจัดทำประกาศนโยบายทองคำแล้วเสร็จ ในระหว่างจัดทำนโยบายทองคำและเสนอ คณะรัฐมนตรีมีการยุบสภาฯเสียก่อนเรื่องจึงถูกส่งกลับมายังกระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงไม่ได้ดำเนินนโยบายใด ๆ เกี่ยวกับทองคำ

ต่อมา พ.ศ.2557 มีข้อร้องเรียนต่อผลประกอบกิจการของ บ.อัคราฯ โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนในพื้นที่ และประชาชนได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. และในวันที่ 13 ธ.ค.2559 พล.อ.ประยุทธ์ จึงออกคำสั่ง ม.44 ให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองทองคำทุกรายทั่วประเทศระงับการประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว

ผมเชื่อว่าในขณะนั้นไมว่าใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะนายกฯ หรือ หัวหน้า คสช.เมื่อมีการร้องเรียนของประชาชน และมีผลกระทบเรื่องสุขภาพมาตลอดและมีความขัดแย้งในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อประโยชน์และเพื่อการดูแลสุขภาพอนามัย ดังนั้นการที่ออก ม.44 ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะที่มีการออกคำสั่ง ม.44 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ (คนร.) ไปจัดทำนโยบายแร่ทองคำเพื่อให้สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนได้ ต่อมาคณะมนตรีได้เห็นชอบในเดือน ส.ค.ปี 2560 จากนั้น คนร.ได้มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถกลับประกอบกิจการและยื่นขออนุญาตภายใต้นโยบายทองคำได้ ดังนั้น บ.อัคราฯ จึงกลับมาเดินเรื่องของอาชญาบัตรพิเศษ สำรวจจำนวน 44 แปลงที่เคยยื่นเรื่องไว้ในปี 2546 และ 2548 การกลับมาเดินเรื่องดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตจึงเป็นไปตามมติ คนร.ไม่ใช่เรื่องของการแลกเปลี่ยนเพื่อนการถอนฟ้องแต่อย่างใด

นายสุริยะ ยังระบุว่า การที่ผู้อภิปรายระบุว่า กรณี บ.คิงส์เกตฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 2.5 หมื่นล้าน และบอกว่ารัฐบาลไทยแพ้ 100% ซึ่งถ้า รัฐบาลแพ้ บ.คิงส์เกตคงไม่มาเจรจา และสามารถนำเงิน 25,000 ล้านบาทกลับไปได้ทันที ทำไมจะมาแลกกับการขออาชญาบัตรซึ่งกว่าจะลงทุนและทำกำไรได้ เนื่องจากในเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมาของ บ.ดังกล่าว ซึ่งกำไรผมคิดว่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจะต้องประกอบกิจการอีก 25 ปี จึงจะได้เงิน 25,000 ล้านบาท จึงขอยืนยันว่า การที่ บ.การที่คิงส์เกตกลับมาเจรจาไม่ใช่การที่รัฐบาลไปเอื้อประโยชน์กลับ บ.คิงส์เกต แต่การกลับมาเพราะราคาทองคำขึ้นมาพอสมควร ดังนั้นจึงคิดว่าควรจะกลับมาทำ

ขณะที่รูปคดีก็ทั้ง บ.คิงส์เกต และกรมเหมืองแร่ได้ยื่นให้คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการเลื่อนออกไปเพื่อที่จะหารือกันต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและที่มีกฎหมายรองรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง