"วิโรจน์" ชี้ "นายกฯ-อนุทิน" จัดหาวัคซีน COVID-19 "ล่าช้า-กระจุกตัว"

การเมือง
17 ก.พ. 64
15:04
323
Logo Thai PBS
"วิโรจน์" ชี้ "นายกฯ-อนุทิน" จัดหาวัคซีน  COVID-19 "ล่าช้า-กระจุกตัว"
"วิโรจน์" ส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปราย นายกฯ รมว.สาธารณสุขถึงการจัดหาวัคซีน COVID-19 ชี้ จัดหาล่าช้า และกระจุกตัว

วันนี้ (17 ก.พ.64) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผู้อำนวยการ ศบค.และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน COVID-19 ที่ล่าช้าและกระจุกตัว โดยระบุว่า ปัญหาการลักลอบเข้าแรงงานต่างชาติ และบ่อนการพนัน นำมาสู่การระบาดระลอกใหม่ จนนำมาสู่พื้นที่ระบาดในหลายพื้นที่ และสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวปี 63 สูญรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท ธปท.ประเมินว่าจะมีแรงงานตกงานอีก 4.7 ล้านคน

 

นายวิโรจน์ยังอภิปรายถึงการจัดหาวัคซีน COVID-19 ที่ล่าช้าว่า เดิมแผนการจัดหาวัคซีน จำนวน 65 ล้านโดส นั้นจะมีการฉีดวัคซีนในปี 64 จะมีผู้ได้รับวัคซีน 11 ล้านคน ปี 65 อีก 11 ล้านคนและ ปี 66 อีก 10 ล้านคน ซึ่งเป็นแผนที่ล่าช้ามาก ๆที่จะครอบคลุมประชากรถึงครึ่งหนึ่งกว่า 30 ล้านคน และการจัดหาวัคซีนเน้นไปที่วัคซีนของแอสตราเซเนกาเพียงเจ้าเดียว และหลังจากที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.63 มติให้หาวัคซีนจากแหล่งอื่นอีก ร้อยละ 30 และตกลงให้หาแบบทวิภาคีจากที่อื่น และร้อยละ 20 จาก COVAX ซึ่งไม่มีคำแนะนำให้การจัดหาวัคซีนที่กระจุกอยู่ที่แอสตราเซเนก้าเท่านั้น 

 

นอกจากนี้ การจัดหาวัคซีนจาก COVAX ที่ไม่คืบหน้า ตั้งคณะทำงานล่าช้า รวมถึงแถลงว่าไม่เข้าร่วมเพราะกฎหมายไม่เอื้อ ผ่านมา 7 เดือน นายอนุทินได้เจรจาใหม่ และแถลงว่าประเทศไทยเป็นประเทศฐานะปานกลาง จึงไม่เข้าร่วม COVAX ทั้งที่มี 172 ประเทศเข้าร่วม และอาเซียนเข้าร่วมทุกประเทศยกเว้นไทย ทั้งนี้ควรกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนเช่นเดียวกับที่หลายประเทศดำเนินการ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ขณะที่ไทยกระจุกที่วัคซีนเจ้าเดียวเป็นส่วนใหญ่ส่วนน้อยจากซิโนแวค 

 

นายวิโรจน์ ยังระบุว่า นายอนุทินยังพูดถึงผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน pfizer ซึ่งอาจกระทบต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนของประชาชน ซึ่งขอเตือนนายอนุทินว่าอย่าเอาข่าวปลอมมาพูด รวมถึงการจัดหาวัคซีนเพียงเจ้าเดียวก็อาจมีปัญหาหากมีผลข้างเคียงได้ 

 

นอกจากนี้ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญเคยเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทินว่า ควรฉีดวัคซีนให้ กลุ่มอายุ 20-49 ก่อน เนื่องจากมีการเดินทางมากกว่าและมีความแข็งแรง เหตุใดจึงไม่เชื่อแพทย์และจะฉีดให้ผู้สูงอายุก่อนโดยเฉพาะแอสตร้าเซเนก้าที่ในยุโรปจำกัดการฉีดในผู้สูงอายุ

 

นายวิโรจน์ ยังระบุว่า ขณะที่การนำงบฯไปอุดหนุน 600 ล้านบาทในการผลิตวัคซีนของเอกชน และการระบุว่า บ.เอกชน และแอสตร้าเซเนก้าบอกว่า ผลิตวัคซีนโดยไม่ทำกำไรจะเป็นในช่วงแรกเท่านั้นหากการระบาดจบในปี 65 จะสามารถทำกำไรได้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เปิดรายละเอียดสัญญาที่ทำกับแอสตราเซเนกาเพื่อให้ตรวจสอบได้ ซึ่งเคยขอข้อมูลแต่ไม่ได้รับข้อมูล โดยนายอนุทินปฏิเสธโดยอ้างว่าต้องได้รับการอนุญาตจากคู่สัญญาหากเปิดเผยข้อมูลจะถูกยกเลิกสัญญาและขึ้นราคาวัคซีนได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง