"ยุทธพงศ์" บี้ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว "พ.ร.บ.ร่วมทุน - ค่าโดยสารแพง"

เศรษฐกิจ
17 ก.พ. 64
21:42
945
Logo Thai PBS
"ยุทธพงศ์" บี้ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว "พ.ร.บ.ร่วมทุน - ค่าโดยสารแพง"
"ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร" บี้ปมสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ชี้ คสช.ใช้ ม.44 ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พร้อมจี้ค่าโดยสารแพงทำประชาชนเดือดร้อนขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (17 ก.พ.2564) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุ สมคบ รู้เห็นเป็นใจ แบ่งหน้าที่ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล กับ พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะที่กำกับ กทม.

การให้สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ให้กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) อ้างเป็นพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน หลีกเลี่ยงการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ) เพราะพบว่า กทม. นั้นได้ให้ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) จ้างบริษัทบีทีเอสฯ เดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเข้มเหนือ และส่วนใต้ โดยไม่ผ่านการประมูล ซึ่งถือว่าเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ


และยังพบกรณีที่ คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เมื่อเดือน เม.ย. 2562 ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ขัดมติ ครม. เอื้อประโยชน์ แก่บีทีเอส โดยไม่ประมูลทำให้รัฐเสียหาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน/ค่าโดยสารแพง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า การต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัทบีทีเอส นั้นพบว่ามีการจัดฉากสร้างหนี้ โดยพบว่าบริษัทบีทีเอสมีหนังสือทวงหนี้ มูลค่า 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ส่วนของรถ 9,000 ล้านบาท และระบบส่วนของการเดินรถ 21,000 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการเจรจาแลกหนี้กับการขยายสัมปทาน ทั้งที่มติ ครม. ระบุให้กระทรวงการคลัง จัดงบประมาณเพื่อให้ กทม.นำไปชำระหนี้

สัญญาสัปทานรถไฟฟ้าที่ต่อไป 40 ปี มูลค่ารวม 6 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาตรา 44 ให้ ทำให้ประชาชนต้องเสียค่าโดยสารราคาแพง ถ้าไม่ขยายจ่าย 158 บาท แต่ถ้าขยายสัมปทานเสีย 65 บาท ซึ่งค่าโดยสารไม่ควรเกิน 42 บาทเหมือน รฟม. มองว่าเป็นการจับเอาประชาชนเป็นตัวประกัน และกรณีนี้ ผมขอตั้งเรื่องว่าเป็นมหากาพย์การโกงข้ามศตวรรษ 2602

มท.1 โต้ร่วมทุน ยันไม่มีนอกในกับใคร

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า ส่วนตัวและนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ให้นโยบายเท่านั้น แต่การที่ กทม.จะดำเนินการใด ขึ้นอยู่ที่สภากรุงเทพมหานคร ไม่มีใครสามารถบังคับได้ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเอกชนหรือบีทีเอส สร้างทั้งหมดตั้งแต่รางจนถึงระบบเดินรถ ซื้อรถ ขายตั๋วเอง ตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งรถไฟฟ้าสายนี้เป็นสายเดียวของไทยที่รัฐไม่ได้สร้างเอง


ในช่วงที่สร้างยังไม่มี รฟม.จึงดำเนินการตามต่างประเทศ ท้องถิ่นเป็นเจ้าของ ดังนั้น เมื่อสร้างเสร็จต้องโอนทรัพย์สินให้เป็นสมบัติของ กทม.ทันที จะไปโอนให้คนอื่นนั้นไม่ได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขณะที่ส่วนต่อขยาย 1 กทม.พยายามขอสัมปทานแต่รัฐบาลในยุคนั้นไม่ให้ กทม.จึงต้องจ้างบีทีเอสเดินรถ ปี 2555 - 2585 ซึ่งเรื่องนี้เป็นคดีทางกฎหมายอยู่

ส่วนเรื่องหนี้สินของส่วนต่อขยาย 2 กทม.จำเป็นต้องกู้เงินต่อจาก รฟม.เมื่อมีรางแล้ว เดินรถยังไม่ได้ ต้องวางระบบก่อน แต่ กทม.ไม่มีเงิน ณ ขณะนั้น เพราะสภาบอกว่าไม่มีเงินให้ สุดท้ายต้องจ้างบีทีเอสวางระบบ จำนวน 17,757 ล้านบาท และจ้างเดินรถด้วย ซึ่งคนรับจ้างสั่งรถมาแล้วและเดินรถแล้ว

การจ้างเดินรถมีการตีความอยู่ในกฤษฎีกาตีความว่าไม่ถือเป็นการร่วมทุน ถามว่ารถวิ่งไปคันเดียวใช่ แต่ถามว่ารถใคร ไม่ใช่รถของเราเลย ดังนั้นจึงถือว่าไม่ใช่การร่วมทุน ประชาชนจะเข้าใจสับสน

พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำว่า หนี้สินทั้งหมดขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่การสร้างราง วางระบบ และผลจากการเดินรถขาดทุน ดังนั้น ใครจะไปทำอะไรกับสัมปทานไม่ได้ เพราะสัมปทานเอาไปตั้งกองทุนแล้ว จะไปยกเลิกสัมปทานก็ไม่ได้


ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องเงินของ กทม.คือ การร่วมทุน หากเอกชนทำได้ดีกว่า การให้เอกชนเข้ามาดำเนินการไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ต้องไม่เอื้อประโยชน์ตามข้อกฎหมาย และเห็นประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ ดังนั้น คสช.จึงหาทางแก้โดยใช้คำสั่ง คสช.ตั้งคณะกรรมการเจรจา เน้นให้ประชาชนได้ค่าโดยสารเหมาะสม ค่าแรกเข้าไม่ซ้ำซ้อน กทม.และรัฐบาลต้องไม่มีภาระงบประมาณ และผลตอบแทนเอกชนต้องเป็นธรรมด้วย เมื่อเจรจาได้แล้วต้องนำเข้า ครม.พิจารณา โดยเข้าไปแล้วในเดือน ก.ย.2562 ก่อนตั้งกรรมการศึกษาและแจ้งกลับมาที่สภาต่อไป

ท่านอภิปรายไม่ไว้วางใจผม ผมไปทำอะไรผิดมา ผมนำข้อเจรจาทั้งหมดไปเสนอ ครม.ไม่มีนอกมีในกับใคร ไม่ได้ต้องไปเป็นอะไรให้ใคร ตัวผมไม่มีแน่นอน

หากรอสิ้นสุดสัมปทาน ในปี 2572 ซึ่งการร่วมทุนก่อนหมดสัญญา 5 ปี เริ่มดำเนินการเจรจาปี 2567 เวลาในการเจรจาที่เร็วที่สุด 2 ปี ภาระหนี้ระหว่างนี้รวม 6 ปี จำนวน 61,131 ล้านบาท ทำให้กรุงเทพมหานครทำไม่ได้ แต่ถ้าร่วมทุนก่อนหมดสัญญา 3 ปี เริ่มเจรจาปี 2569 เวลาในการเจรจาที่เร็วที่สุด 2 ปี แต่ภาระหนี้ระหว่างนี้รวม 8 ปี จำนวน 71,790 ล้านบาท ทำอย่างไรก็เร็วได้เท่านี้ กฎหมายเขียนไว้ รอหมดสัมปทานก่อนไม่ได้ ยืนยันไม่ได้เห็นด้วย แต่มันมาอย่างนี้ คนมาทีหลังต้องแก้ปัญหา ไม่ใช่บอกว่ามีปัญหาสร้างมาก็ค้างไว้แบบนี้ไม่ได้

โต้ค่าโดยสารแพง ขอเทียบราคาดูต้นทุน

พล.อ.อนุพงษ์ ยังได้กล่าวถึง เรื่องอัตราค่าโดยสาร โดยระบุว่า หากเทียบกับสายสีเขียวกับสายสีน้ำเงิน โดยอยู่ที่ 65 บาท กับ 42 บาท ถามใครก็ต้องตอบว่า 65 บาทแพง แต่ราคาที่มันแพงเพราะต่างกันที่ระยะทาง ซึ่งราคาสะท้อนจากการลงทุน ผมย้ำว่า หากตกลงกันเสร็จ สายสีเขียวจะเป็นสายเดียวที่รัฐบาลไม่ได้ลงทุน ขณะที่สายสีน้ำเงิน รัฐสร้างให้ เอกชนมาลงทุนแล้วเดินรถ ถ้าจะเทียบราคาขอให้ดูต้นทุนด้วย


สำหรับอัตราค่าโดยสารที่เป็นประเด็นเรื่อง 104 บาทนั้น เกิดจากส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 16 สถานี ราคาอยู่ที่ 45 บาท โดยคิดเป็นค่าแรกเข้า 15 บาท แล้วเสียเพิ่มสถานีละ 3 บาท ตั้งเป้าไว้ไม่ให้เกิน 45 บาท เดินสุดสายจากปทุมธานี ไป กทม. ข้ามไป จ.สมุทรปราการ ค่าแรกเข้าเสียครั้งเดียว 15 บาท รวมกับส่วนกลางที่เป็นของบีทีเอส และส่วนต่อขยาย 1 และ 2 เป็นเงิน 104 บาท คาดการณ์ผลขาดทุน ปี 64-72 รวมกว่า 37,000 ล้านบาท

หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศค่าโดยสารถ้ารัฐไม่สนับสนุนเลยค่าโดยสารไทยจะต่ำกว่าต่างประเทศ แต่หากรัฐสนับสนุนก็อยู่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ยืนยันว่า รัฐบาลดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก


หลังจากนั้น นายยุทธพงศ์ ได้ลุกขึ้นโต้ พล.อ.อนุพงษ์ ว่า ประเด็นความพยายามในการหนี พ.ร.บ.ร่วมทุน พล.อ.อนุพงศ์คงทราบแล้ว ขอให้ไปดำเนินการให้ถูกต้องด้วย ส่วนกรณี กทม.ไม่มีเงินนั้น นายยุทธพงศ์ได้นำเอกสารข้อบัญญัติ กทม. ที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ลงนามกู้เงินเพื่อใช้จ่ายหนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวฝั่งเหนือและใต้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กทม.มีความพร้อมในการจ่ายหนี้ให้ รฟม. ดังนั้นขอให้กลับไปตรวจสอบด้วย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง