"เบญจา" จวกรัฐบาลเอื้อทุนพลังงาน ประชาชนใช้ไฟฟ้าแพง

เศรษฐกิจ
19 ก.พ. 64
00:48
1,320
Logo Thai PBS
"เบญจา" จวกรัฐบาลเอื้อทุนพลังงาน ประชาชนใช้ไฟฟ้าแพง
"เบญจา" ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ "พล.อ.ประยุทธ์" อ้างว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน สร้างโรงไฟฟ้ามากเกิน จนประชาชนต้องใช้ค่าไฟฟ้าแพง ขณะที่นายกฯ ยืนยันก่อนเข้ามามีการอนุมัติด้านพลังงานอยู่แล้ว 5,000 เมกะวัตต์

วันนี้ (18 ก.พ.2564) น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยอ้างว่าเปิดโอกาสให้เอกชนรายหนึ่งได้รับประโยชน์จากนโยบายด้านพลังงานและสัมปทานจากภาครัฐ ท่ามกลางเศรษฐกิจย่ำแย่ ปล่อยให้กลุ่มทุนแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติ ซึ่งทำให้ประชาชนต้องใช้ค่าไฟฟ้าแพง

ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้เอกชนรายหนึ่งได้รับประโยชน์จากนโยบายด้านพลังงานและสัมปทานจากภาครัฐ ท่ามกลางเศรษฐกิจย่ำแย่ ปล่อยให้กลุ่มทุนแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติ ซึ่งทำให้ประชาชนต้องใช้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตในปัจจุบันไม่ได้มาจาก กฟผ.อย่างเดียว แต่มาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนหลายบริษัท ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าผ่านการสัมปทาน แต่การรับซื้อไฟฟ้ากลับถูกบิดเบือนให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานได้กำไรมหาศาล

ไทยประสบปัญหาไฟฟ้าล้นถึงปี 70

สำหรับการให้สัมปทานที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากเกินปกติ ทำให้มีโรงไฟฟ้ามากเกินไป และกำลังไฟฟ้าผลิตล้นเกินไปอีกด้วย ซึ่งกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเนื่องหลังเกิดการรัฐประหารในปี 2557 จนในปี 63 ล้นขึ้นมาเป็น 60% ทั้งที่อัตราเหมาะสมตามหลักสากลอยู่ที่ 15% ซึ่งปัญหาไฟฟ้าล้นจะมีอยู่ต่อไปจนถึงปี 2570 ขึ้นไป เพราะมีการให้สัมปทานโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้มาจากแผน PDP และยังมีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลา 5 ปี แต่หลังจากรัฐประหารได้เปลี่ยนแผนไปแล้ว 3 ครั้ง

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้สร้างอาณาจักร ขยายฐานธุรกิจโหมสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เกินความจำเป็น ทั้งที่ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเป็นอย่างมาก และต้นทุนการผลิตไฟที่เกินความจำเป็นนี้ ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงมากขึ้นในทุกปี นอกจากนี้ ยังแจกสัมปทานให้โรงไฟฟ้าให้เอกชนรายใหญ่ หรือโรงไฟฟ้า IPP มากจนเกินไป นานจนเกินไป และแพงจนเกินไป ซึ่งสัมปทานที่ให้นานถึง 25 ปี ทั้งที่ธุรกิจไฟฟ้าสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาแค่ 7 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่าประเทศไทยมีค่าไฟฟ้าแพงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ 3.75 บาทต่อหน่วย ขณะที่มาเลเซีย อยู่ที่ 1.96 บาทต่อหน่วย, ลาว อยู่ที่ 2.96 บาทต่อหน่วย, เวียดนาม อยู่ที่ 3.40 บาทต่อหน่วย, สิงคโปร์ อยู่ที่ 3.71 บาทต่อหน่วย, อินโดนีเซีย อยู่ที่ 3.74 บาทต่อหน่วย ส่วนกัมพูชา อยู่ที่ 5.74 บาทต่อหน่วย และฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 6.40 บาทต่อหน่วย

นายกฯ ยืนยันทำตามแผนพลังงาน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงประเด็นเอื้อกลุ่มทุนพลังงานว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมด ย้อนหลังไปนานมากเกินไป ตั้งแต่ปี 2557 เพราะฉะนั้น ถ้าจะย้อนต้องย้อนไปก่อนปี 2557 ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพลังงาน ซึ่งการที่กล่าวว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์ นั่นมันนานมาแล้ว ซึ่งในวันนี้ (18 ก.พ.) เข้ามานั่งในสภาพร้อมกับ น.ส.เบญจา และรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และการเข้ามาไม่ต้องบังคับใคร เพราะเป็นเรื่องของการดำเนินการในเรื่องของสภา ส.ส. และรัฐบาลเชิญตนเองให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ทราบดีว่าต้องถูกถามถึงเหตุผลว่าเข้ามาเพื่ออะไร ถ้าเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ ไม่เข้ามาให้ปวดหัวหรอก เพราะเหนื่อยมากกว่าจะใช้สมองทำงาน ถ้าคิดว่าจะโกงนะ เพราะไม่ชอบการทุจริตคดโกง ซึ่งในช่วงนั้น แม้ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. แต่ก็มีการฟ้องไปหลายคดีด้วยกัน แต่พิสูจน์มาแล้วว่าไม่มีความผิดตามนั้น ไม่ใช่ว่าไม่เคยถูกตรวจสอบมาเลย ซึ่งมีการฟ้องศาล และไม่เคยไปสั่งศาล

"พล.อ.ประยุทธ์" กล่าวว่า ใช้คำสั่ง คสช.ในการแก้ปัญหาของประเทศ แก้ปัญหาที่ติดขัด แก้ปัญหาที่ไม่ชอบธรรมในช่วงที่ผ่านมา มีเจตนาโดยบริสุทธ์ สุจริต โดยก่อนเข้ามามีการอนุมัติด้านพลังงานอยู่แล้ว 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พบว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะเป็นสัญญาที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นทำไว้ ซึ่งยกเลิกไม่ได้ และในเรื่องการพัฒนาเป็นการดำเนินการตามแผนของพลังงานอยู่แล้ว ถ้าทำถูกต้อง ไปโทษเขาไม่ได้ ถ้าทำผิดโทษรัฐบาล วันนี้คิดว่ารัฐบาลตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด

รมว.พลังงาน ชี้โควิดกระทบใช้ไฟฟ้า

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีไฟฟ้าแพงและกำลังการผลิตเกินความต้องการ โดยระบุว่า การออกแบบแผนกำลังการผลิตเป็นแผนของปี 2561 โดยทำปี 2560 โดยประเมินความต้องการใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น ซึ่งสอบถามสภาอุตฯ สภาพัฒน์ ทุกฝ่าย แล้วพยากรณ์ไปอีก 20 ปี โดยจีดีพี ณ เวลานั้น 3.8% ต่อปีต่อเนื่อง ซึ่งไม่มีใครทราบว่าปี 2563 จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ความต้องการลดลงจากเดิมไป 10% ซึ่งเกิดกันทั้งโลก ส่วนปริมาณการพยากรณ์ที่เกิดตั้งแต่ปี 2560 นั้น เขาต้องออกแบบก่อน จึงต้องมีการผลิตเกิดขึ้นก่อน เพราะการผลิตกว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง จำเป็นต้องตัดสินใจ และลงทุนเป็นการล่วงหน้า เพื่อให้การผลิตทันกับความต้องการใช้ ซึ่งเป็นปกติ เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้ามาตลอดเวลา

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า กรณีไฟฟ้าแพง ที่ไฟฟ้าต่างประเทศถูก เพราะเขามีสัดส่วนของถ่านหินและน้ำสูงกว่าประเทศไทยมาก ซึ่งต้นทุนไฟฟ้าที่ถูกที่สุดมาจากถ่านหินและน้ำหรือเขื่อน ซึ่งไทยทราบอยู่แล้วแต่ไม่ได้สร้าง เราจึงเป็นแก๊สธรรมชาติส่วนใหญ่ จึงแพงกว่าเขา และเรามีพลังงานทดแทนเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเกษตรกรและชุมชนต่างๆ ได้มีโอกาสทำโครงการชีวมวล เมื่อนำมาเฉลี่ยจึงแพงกว่าต่างประเทศ ยืนยันไม่มีนโยบายผูกขาดให้ใคร มีเพียงโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะเกิดขึ้นเพื่อวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง