ฝ่ายค้านเล็งฟ้องเอาผิด "พล.อ.ประยุทธ์ - จุรินทร์ - ณัฏฐพล"

การเมือง
22 ก.พ. 64
13:41
717
Logo Thai PBS
ฝ่ายค้านเล็งฟ้องเอาผิด "พล.อ.ประยุทธ์ - จุรินทร์ - ณัฏฐพล"
พรรคฝ่ายค้านเดินหน้าฟ้องรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ตั้งตัวแทนทีมกฎหมายแต่ละพรรคเป็นคณะทำงานร่วมร่างคำฟ้อง เบื้องต้น จะฟ้อง "พล.อ.ประยุทธ์ - จุรินทร์ - ณัฏฐพล"

วันนี้ (22 ก.พ.2564) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ย้ำถึงการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารราชการว่า ยืนยันจะเอาผิดทางกฎหมายกับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย โดยตั้งคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายชุดหนึ่งที่มีตัวแทนฝ่ายกฎหมายของแต่ละพรรค เพื่อร่างคำร้องยื่นฟ้อง โดยจะเอาผิดทางจริยธรรม ความผิดทางอาญาตามประมวลจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีรัฐมนตรีหลายคนที่จะฟ้องทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และการทุจริต หรือนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงและการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบส่อในทางทุจริต

ส่วนรัฐมนตรีบางคนที่ไม่ได้ยื่นฟ้องร้องนั้นจะมีมาตรการทางการเมืองที่ต้องได้รับการตรวจสอบไม่ว่าทางกฎหมายและการเมือง

เตรียมลงพื้นที่ที่ได้อภิปราย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จะต้องดำเนินการเอาผิดเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน และเดินหน้าต่อในกระบวนทางการเมืองและกฎหมาย ไม่ว่าจะยื่น ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะจะต้องกระตุ้นให้สังคมรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลเตรียมลงพื้นที่ที่ได้อภิปรายในช่วงการปิดสมัยประชุมนี้

ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า หากศาลฎีการับคำร้อง รัฐมนตรีจะต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ทันที ซึ่งที่ผ่านมาก็มีธรรมเนียมปฏิบัติให้เห็นอยู่ ก่อนจะย้ำว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ จนถึงที่สุดตามที่ประชาชนมอบอำนาจให้

 

เชื่อไม่เกิดกรณีห้ามยกร่าง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ว่า ในวันพรุ่งนี้ จะทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะนำความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่มีความเห็นต่อการแก้รัฐธรรมนูญส่งให้ศาลประกอบคำวินิจฉัยตามคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หลังจากที่ศาลให้นักวิชาการ 4 คน ทำความเห็นส่งต่อศาลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเชื่อมั่นว่าแนวทางการวินิจฉัยของศาล ไม่น่าจะเกิดกรณีที่ไม่สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้

"รังสิมันต์" แนะจับตาแก้ รธน.

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า ให้จับตาการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 3 ประเด็น ที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ได้แก่ 1. การกำหนดห้ามแก้หมวด 1-2 ทั้งที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องให้แก้ไข ซึ่งหากไม่แก้ไข อาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ และจะไม่เป็นทางออกของปัญหาทางการเมืองอย่างแท้จริง 2. การกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตต้องใช้เสียงเห็นชอบรัฐสภา 2 ใน 3 ในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปยาก ซึ่งหากเกิดปัญหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะไม่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้

และ 3. กรณีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. หากร่างไม่ผ่านประชามติ ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงประชาชนเลือกที่จะอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฉบับปี 2560 และแม้มีช่องทางการตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องใช้เสียงรัฐสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ยากในการดำเนินการ โดยตั้งข้อสังเกตว่าแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะต้องเกิดรัฐประหารถึงจะร่างใหม่ทั้งฉบับได้ ก่อนจะย้ำว่าพรรคฝ่ายค้านยืนยันการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน

ห่วงแก้ รธน.ใช้เสียง 500 คน

นอกจากนี้ ร.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ย้ำตรงกันว่าฝ่ายค้านห่วงเรื่องการแก้ไขที่จะต้องใช้เสียงรัฐสภาเห็นชอบ 500 คน ทั้งนี้ ในชั้นวาระที่ 2 ฝ่ายค้านในแปรญัตติไว้ ต้องมาชั่งน้ำหนักกันดู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง