กองทัพเมียนมาขู่จัดการสื่อที่ใช้คำว่า "รัฐประหาร"

ต่างประเทศ
23 ก.พ. 64
11:35
431
Logo Thai PBS
กองทัพเมียนมาขู่จัดการสื่อที่ใช้คำว่า "รัฐประหาร"
กองทัพเมียนมาออกมาขู่จัดการกับสื่อ ที่ยังคงใช้คำว่ารัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหารในการนำเสนอข่าว ท่ามกลางการรวมตัวชุมนุมประท้วงในหลายเมืองของเมียนมา เพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตย

วันนี้ (23 ก.พ.2564) โทรทัศน์ของกองทัพเมียนมา รายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ระบุในระหว่างการประชุมว่า กองทัพจะใช้มาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของสื่อ ที่ยังคงใช้คำว่ารัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหารและกองทัพต้องการให้สื่อเลิกใช้คำเรียกนี้


นอกจากนี้ ผู้นำทหารเมียนมายังระบุด้วยว่า จะเดินหน้าไปตามเส้นทางของประชาธิปไตย พร้อมทั้งยืนยันว่ากองทัพต้องการใช้กำลังให้น้อยที่สุดและควบคุมสถานการณ์อย่างระมัดระวัง เนื่องจากชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ท่าทีล่าสุดของกองทัพมีขึ้นหลังชาวเมียนมาจำนวนมากออกมาร่วมหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศเมื่อวานนี้ ซึ่งภาพถ่ายจากดาวเทียมชี้ให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงไปรวมตัวกันในย่านใจกลางนครย่างกุ้งและมีการใช้ศิลปะเพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตย


ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกมาประณามการใช้กำลังของกองทัพในการจัดการกับชาวเมียนมาที่ออกมาประท้วงอย่างสันติ พร้อมทั้งระบุว่า สหรัฐอเมริกาอาจดำเนินมาตรการเพิ่มเติมต่อแกนนำในกองทัพที่ก่อรัฐประหาร

ขณะที่สำนักงานควบคุมสินทรัพย์ต่างชาติ กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ออกมาตรการคว่ำบาตร พล.อ.หม่อง หม่อง จอว์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเมียนมาและ พล.ท.โม มินต์ ตุน ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ดูแลพื้นที่กรุงเนปิดอว์

กองทัพเมียนมา กับแนวคิดเบื้องหลังการใช้ความรุนแรง

ผ่านมากว่า 3 สัปดาห์แล้ว หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร ทั่วโลกยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหลังจากที่กองทัพใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่อง

คติสำคัญที่ปลูกฝังกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในกองทัพเมียนมา คือ การให้ความสำคัญกับเอกภาพในประเทศและการป้องกันไม่ให้อิทธิพลจากภายนอกเข้ามาแทรกแซง โดยสองข้อนี้เพียงพอจะทำให้ตัดสินใจทำอะไรรุนแรงได้โดยไม่ต้องสนใจสายตาใคร


กองทัพเมียนมาเป็นสถาบันที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดในประเทศ ยาวนานมาตั้งแต่ปี 1948 หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ มีอำนาจเหนือการเมืองและกิจการต่าง ๆ ในประเทศมาโดยตลอด นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กองทัพเมียนมาใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องยับยั้งชั่งใจใดๆ

ขุมกำลังของกองทัพเมียนมาปีนี้การประเมินโดยเว็บไซต์ globalfirepower จัดอันดับขุมกำลังกองทัพเมียนมาอยู่ที่ลำดับ 38 จาก 139 ทัพทั่วโลก ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 โดยเมียนมามีประชากรประมาณ 57 ล้านคน ปัจจุบันมีกำลังพลในกองทัพมากกว่า 500,000 นาย มีรถถังร่วม 600 คัน และรถหุ้มเกราะอีก 1,700 คัน ไม่นับยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อีกมากมาย รวมงบประมาณด้านกลาโหมกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกเหนือจากสรรพกำลังแล้ว ในกองทัพเมียนมายังมีคติที่ปลูกฝังกันมาเกี่ยวกับการปกป้องประเทศ เสมือนเป็นผู้พิทักษ์เอกภาพในชาติ ประเด็นนี้ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ข้อมูลเมื่อสักครู่สอดรับกับท่าทีของเมียนมา ที่ไม่ฟังเสียงทัดทานจากนานาประเทศ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ ประณามการทำรัฐประหาร กดขี่สิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงคำขู่ที่จะคว่ำบาตรจากประเทศมหาอำนาจ


ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมถึงการที่ทหารเมียนมาคุ้นชินกับการใช้อำนาจและความรุนแรง รวมถึงเสียงวิจารณ์ไปเสียแล้ว ทำให้มักตัดสินใจโต้ตอบการเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงอยู่เสมอ โดยยึดหลักการที่ว่าเป็นการทำเพื่อความมั่นคง ทำให้กองทัพเมียนมาอาจรู้สึกว่าไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากความรุนแรง เพราะหากให้ถอยก็เป็นไปไม่ได้ หรือหากมองโลกในแง่ดีจริง ๆ ว่าอาจเจรจากับผู้ประท้วงก็ยังทำได้ยากอยู่ดี เนื่องจากการเคลื่อนไหวยุคใหม่นี้ไม่มีแกนนำ

ทั้งนี้ นักวิชาการหลายคนประเมินว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นี้ คือการยับยั้งชั่งใจของกองทัพเมียนมาพอสมควรแล้ว เพราะถ้ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงมาก ๆ อย่างไรก็ต้องส่งผลทำให้ประเทศถดถอย แต่หากถูกมวลชนกดดันมาก ๆ ก็อาจมีท่าทีใหม่ที่ไม่สนใจความเสียหายอื่น ๆ อีก เพราะถือว่าต้องรักษาความสงบในประเทศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง