เปิด Clubhouse “ทักษิณ” (TONY) ตอบ-ไม่ตอบหลายปมคาใจ

การเมือง
23 ก.พ. 64
17:10
523
Logo Thai PBS
เปิด Clubhouse “ทักษิณ” (TONY) ตอบ-ไม่ตอบหลายปมคาใจ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Clubhouse กลายเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยหลายครั้ง หลังได้รับความสนใจจาก "อีลอน มัสก์" มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งเทสลาได้เข้าไปใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวเพื่อพูดคุยในหัวข้อต่าง ๆ ทั้งยังเชิญชวนนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิดีรัสเซียเข้าร่วมการพูดคุยกันด้วย 

ความคึกคักของ Clubhouse แอปฯ สื่อสารผ่านเสียงในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนคนดังจากหลากหลายวงการเข้าร่วมพูดคุยจำนวนมาก ทั้งดารา ศิลปิน นักการเมือง รวมไปถึงอดีตนักการเมืองอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้เข้าร่วมการพูดคุยในห้องสนทนาที่ชื่อว่า "ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้" เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา ด้วยบัญชีชื่อ "Tony Woodsome" พร้อมตอบคำถามด้านการเมือง เศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 รวมถึงนโยบายในอดีตอย่าง 30 บาท รักษาทุกโรค นโยบายการศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุน 


สำหรับนโยบายที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์กันมาก คือ การนำเงินที่ได้มาจากหวยใต้ดินขึ้นบนดิน โดยนายทักษิณ ระบุว่า เป็นการนำเงินโง่ ๆ มาใช้ให้ฉลาดเป็นเงินทุนเด็กเก่งไปเรียนต่างประเทศ รวมถึงการยกตัวอย่างการบริหารสถานการณ์ COVID-19 ที่ประเทศดูไบว่า เน้นป้องกันมากกว่าการควบคุม ทุกคนใช้ชีวิตปกติ เปิดร้านขายของ เดินห้างสรรพสินค้า ไม่มีการกักตัว แต่เน้นเว้นระยะห่าง พร้อมกับการขับเคลื่อนฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ไม่สะดุด

นอกจากคำถามที่ตอบได้อย่างตรงใจชาวโซเชียลแล้ว ยังมีประเด็นคำถามด้านสิทธิมนุษยชน กรณี "กรือเซะ - ตากใบ" ซึ่งนายทักษิณ ตอบว่า เหตุการณ์ขณะนั้นอยู่ในการควบคุมของทหาร จำไม่ค่อยได้แล้ว เหตุการณ์นานแล้ว พร้อมระบุว่า ผมก็เสียใจ ส่วนประเด็นการปฏิรูปสถาบันฯ และการใช้ ม.112 นั้น นายทักษิณ ตอบว่า ไม่ได้ติดตามข่าวในประเทศไทยจึงขอไม่ตอบในประเด็นนี้ 

ผลตอบรับจากจำนวนคนร่วมฟัง Clubhouse เมื่อคืนที่ผ่านมาในห้อง "ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้" กว่า 8,000 คน รวมถึงการถ่ายทอดสดไปยังห้องอื่น ๆ อีก 3-4 ห้อง อาจสะท้อนถึงความนิยมของแอปฯ ใหม่นี้ได้อย่างชัดเจน

ยอดดาวน์โหลดพุ่ง คนฟังขยายประเด็นคุย  

ด้วยความพิเศษของแอปฯ ที่ให้ข้อมูลที่เอ็กคลูซีฟ จากคนที่เอ็กคลูซีฟ ยกมือถามข้อข้องใจได้เหมือนอยู่ใกล้ชิด และการย้อนฟังทีหลังไม่ได้ ยิ่งกระตุ้นให้ชาวโซเชียลไหลทะลักเข้าสู่แพลตฟอร์มใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง ยอดดาวน์โหลด Clubhouse ทั่วโลกขณะนี้ทะยานขึ้นเป็นอันดับ 1 ในหมวดเครือข่ายสังคมออนไลน์ในแอปสโตร์ โดโดยมีเรตติ้งสูงถึง 4.8 จากคะแนนเต็ม 5


อย่างไรก็ตาม ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของ Clubhouse นั้น ส่งผลให้คนในแวดวงการเมืองหันมาเลือกใช้เพื่อกระจายข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะฟากฝั่งของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลที่กระโดดเข้ามาใช้แพลตฟอร์มขยายข้อมูลเชิงลึกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณี "ตั๋วช้าง" ที่ยอดคนฟังพุ่งทะยานและถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในสื่อสังคมออนไลน์ 

หลายฝ่ายต่างจับตามองถึงท่าทีฟากรัฐบาลในการเข้าถึง Clubhouse ว่าจะมีการใช้เพื่อสื่อสารกับประชาชนหรือไม่ หลังที่ผ่านมา กระทรวงดีอีเอส ออกมาเตือนว่าสามารถเอาผิดกับผู้ที่ใช้แอปฯ อย่างผิดกฎหมายได้เหมือนกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ แต่ความคาดหวังของประชาชนอาจอยู่ที่การให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดห้องตอบคำถาม และรับฟังประชาชนผ่านแอปฯ ดังกล่าว เช่นเดียวกับผู้นำประเทศอื่น อย่าง จอง เซกยุน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้เข้าร่วมวงสนทนาผ่านแอปฯ Clubhouse แล้วในชื่อว่า @gyunvely ส่งผลให้เขากลายเป็นนักการเมืองระดับสูงคนแรกของโลกที่ใช้แอปพลิเคชันนี้สื่อสารกับประชาชน

"ไม่มีเวลาเล่น" นายกฯ ปัดเข้า Clubhouse 

ล่าสุด เช้าวันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference สื่อมวลชนได้สอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่าสนใจจะลองเล่น Clubhouse หรือไม่ เพราะเป็นแอปพลิเคชันที่กำลังได้รับความนิยม นายกฯ ตอบสั้นๆ ว่า “ไม่มีเวลาเล่น” ท่าทีนายกฯ ในเช้าวันนี้อาจทำให้คนไทยต้องลุ้นว่าระหว่างรัฐบาลร่วมวง Clubhouse กับกระทรวงดีอีเอสสั่งปิดกั้นแอปฯ อะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน หลังรัฐบาลจีนและอินโดนีเซียเริ่มประกาศแบนแอปฯ ดังกล่าวแล้ว

ด้าน รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า คนไทยตื่นตัวกับการพัฒนาของแอปพลิเคชันเป็นอย่างมาก กรณีของ Clubhouse จะคล้ายคลึงกับ Telegram ที่เป็นที่นิยมก่อนหน้านี้ แต่เมื่อมีแอปพลิเคชันใหม่ที่สื่อสารได้สองทาง ท่าทีจากฝ่ายค้านที่มีการใช้แพลตฟอร์มส่วนหนึ่งเพื่อรักษาฐานแฟนคลับและสร้างแฟนคลับใหม่ด้วยข้อมูลซึ่งเป็นที่สนใจในขณะนั้น ความท้าทายจึงกลับมาอยู่ในฝั่งรัฐบาลว่าจะยอมตกขบวนเทคโนโลยีไม่สนใจ Clubhouse หรือจะก้าวเข้ามาใช้งานเพื่อสื่อสารกับประชาชน 

รัฐบาลอาจต้องเลือกว่าจะใช้ Clubhouse เป็นช่องทางสื่อสารทางการเมืองได้ไหม หรือรัฐบาลอาจมองว่าคนใน Clubhouse ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย แต่ถ้าเลือกที่จะเข้ามาในขบวนแล้วต้องมีกลยุทธ์ในการสื่อสารด้วย ไม่ใช่กระโจนเข้าไปโดยไม่รู้ธรรมชาติของการใช้แอปฯ นี้เลย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนใช้ "Clubhouse" อย่าละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง