เศรษฐกิจไทย ห่างไกล คำว่า "ฟื้น"?

เศรษฐกิจ
23 ก.พ. 64
13:24
354
Logo Thai PBS
เศรษฐกิจไทย ห่างไกล คำว่า "ฟื้น"?
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา รัฐบาลระบุถึงความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของโรคที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจที่ต้องประคับประคองกันต่อไป สอดคล้องกับมุมมอง นักเศรษฐศาสตร์บางส่วน ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปยังฟื้นช้า และอาจไม่เติบโตได้ตามเป้าหมาย

จำนวนผู้ติดเชื้อที่ขณะนี้ลดลงเหลือเลข 2 หลักและผ่อนคลายข้อจำกัดของสถานประกอบการต่างๆลง ความกังวลเบาลง ทำให้เกิดคำถามที่ต่อเนื่องว่าเราจะตั้งความหวังต่อเศรษฐกิจได้หรือยัง

 

 

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.64) มีข้อมูลน่าสนใจจากธนาคารแห่งประเทศ ที่จะบอกสภาพเศรษฐกิจได้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ที่แบงก์ชาติกำกับดูแล พบว่า การเติบโตสินเชื่อการกู้เงินภาพรวมเป็นแบบนี้ สินเชื่อธุรกิจโตที่ 5.4 ถ้าแยกตามขนาดธุรกิจพบว่าธุรกิจเล็ก ถ้าไม่รวมโครงการช่วยเหลือซอฟท์โลน สินเชื่อต่ำลงติดลบถึง 5.9 ส่วนธุรกิจใหญ่ดูเหมือนขยายมากในช่วงปี 63 แต่ตัวเลขนี้เป็นเพราะธุรกิจใหญ่หันมากู้ธนาคารแทนการออกหุ้นกู้ในตลาดทุน เพราะได้รับผลกระทบโควิด ถูกลดเรตติ้งทำให้ออกหุ้นกู้ได้ยาก...พอหันมาดู กู้เพื่ออุปโภคบริโภค ปรับลดลงมาตามกำลังซื้อครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 สิ้นปีที่ผ่านมาโตที่ 4.6 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปีก่อนหน้า

 

 

สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค จะเห็นได้ว่าแย่ในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต ติดลบไป 2.1 สินเชื่อรถยนต์ ลดลงมาเหลือ 2.4 สินเชื่อส่วนบุคคล จาก 10.9 ลดลงมาเหลือ 6.2 อาจกระเตื้องขึ้นบ้างในสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ไม่ใช่แบบปกติ เพราะที่อยู่อาศัยลดราคาลงมา อัดโปรโมชั่นอยู่ฟรีระบายสต๊อก บนหลักเอาตัวรอดกำเงินสดปิดโครงการดีกว่า ทำให้เป็นโอกาสลูกค้าบางส่วนเข้าช้อปของถูก

 

 

 

ลองพิจารณาธุรกิจที่ทีเอ็มบี อนาไลติก ประเมินว่า เป็นธุรกิจที่ฟื้นแล้วจากโควิด-19 แต่ในมุมมองของนักเศรษศาสตร์ส่วนหนึ่ง มองว่าเป็นธุรกิจที่ไปได้ดีในโควิด-19 เพราะมาคู่กับโรค ทั้งธุรกิจสุขภาพที่โรคมาก็ต้องการ ไอทีเทเลคอม อิเล็กทรอนิกศ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะการเวิร์คฟรอมโฮม การอยู่บ้าน การติดต่อทางออนไลน์มากกว่าพบปะ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ที่ขยายตัวดีในยุคโควิดเพราะคนต้องตุนไว้รับประทาน แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจอีกมากมายที่ค่อยๆ ขยับดีขึ้นจนถึงยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้น

 

 

ภาพเศรษฐกิจที่มองว่าฟื้นอาจจะยังไม่ถึงกับฟื้น แต่น่าจะพูดได้ชัดว่าผ่านจุดแย่ที่สุดไปแล้วจริงๆ ยังพอมองเห็นสัญญาณดีบางอย่าง กรณีเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียที่คาดว่าจะสูงมาก แต่ด้วยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้เพิ่มเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบ จาก 2.98 ปีก่อนหน้า มาเป็น 3.12 เปอร์เซ็นต์ก่อนจะทยอยออกมาให้เห็นชัดในปีนี้ ส่วนกลุ่มผิดนัดชำระและเสี่ยงกลายเป็นหนี้เสีย แม้จะอยู่ระดับสูง แต่ก็ปรับลดลงมาได้

 

 

ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ คุณผู้ชมคงจำได้ว่ามีบัญชีหนี้ที่เข้าโครงการ 12.52 ล้านบัญชี มูลค่า 7.19 ล้านล้านบาท มาถึงสิ้นปี 63 ลดลงเหลือ 8.37 ล้านบัญชี มูลค่าหนี้ 4.8 ล้านล้านบาท แบงก์ชาติดคาดว่าเป็นเพราะรายย่อยดีขึ้น

 

 

ภาพเศรษฐกิจไทยอาจมองได้แบบนี้ ปีที่แล้วแย่ตามสถานการณ์ ปีนี้พอมองสัญญาณดีบางอย่าง แต่นักเศรษฐศาสตร์อีกท่าน คุณอมรเทพ จาวะลา ให้นิยามเศรษฐกิจไทยปีนี้ เป็นทุเรียนเวอร์ชั่น 2.0 กรอบนอกนุ่มใน กรอบนอกปัจจัยต่างประเทศ อุปสงค์ส่งออก ดูดีตามเศรษฐกิจโลกประเทศคู่ค้าฟื้นตัว แต่การบริโภคภายในยังนุ่ม เอสเอ็มอี ปัญหาท่องเที่ยวยังไม่กลับมา มีความเปราะบางและความเสี่ยงอยู่มาก ฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนในอาเซียน คาดว่าปีหน้าเมื่อวัคซีนฉีดได้มากพอ เศราฐกิจปีหน้าเร่งตัวขึ้น การท่องเที่ยวเริ่มกลับมา จะถึงวันของเรา

ชวนมองภาพพัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เพื่อรับมือว่าแม้เราจะมีสัญญาณดีบ้าง จะได้วัคซีนในอีกไม่กี่วัน แต่คำว่าฟื้นอาจยังมีปัญหา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง