โต้ข่าว "จตุจักร-ค้างคาวไทย" แหล่งแพร่ COVID-19 ก่อนอู่ฮั่น

สิ่งแวดล้อม
24 ก.พ. 64
16:02
4,529
Logo Thai PBS
โต้ข่าว "จตุจักร-ค้างคาวไทย" แหล่งแพร่ COVID-19 ก่อนอู่ฮั่น
กรมอุทยานฯ โต้ข่าวต่างชาติโยงไทย อ้าง"จตุจักร"-ค้างคาวสายพันธุ์ไทย ต้นตอแพร่เชื้อ COVID-19 ก่อนเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มั่นใจตรวจหาเชื้อจากค้างคาวในป่าตะวันออก ยังไม่เจอเชื้อ ด้าน สธ.หนุนไร้หลักฐานชี้ชัดระบาดจากไทย

กรณีสำนักข่าวแห่งหนึ่งของเดนมาร์ก เสนอรายงานข่าวระบุว่า ตลาดค้าสัตว์ในสวนจตุจักร กทม.อาจเป็นสถานที่ต้นกำเนิดเชื้อ COVID-19 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ของจีน และทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยอ้างข้อมูลจากเธีย เคิลเซน ฟีสเชอร์ แพทย์ชาวเดนมาร์ก ที่ทำงานกับองค์การอนามัยโลก และยังมีรายงานการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในค้างคาวบางสายพันธุ์ในประเทศไทย

วันนี้ (24 ก.พ.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ขอเวลาตรวจสอบ หลังจากองค์การอนามัยโลก กล่าวอ้างว่าประเทศไทยเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของ COVID-19 

ล่าสุด นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ การสำรวจสัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักร และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่ม เช่น สัตว์กลุ่มกระรอก กลุ่มแมว กลุ่มสุนัข กลุ่มหนู กระต่าย และสัตว์ต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ปรากฏว่าไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่า ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดจตุจักร

ข้อมูลที่กล่าวว่าไทยอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดทั้งนี้ สัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักรเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้มีการเพาะพันธุ์และค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสัตว์ต่างประเทศที่มีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย

ทั้งนี้กรมอุทยานฯ มีชุดปฏิบัติการเข้าตรวจตรา ป้องกันการกระทำผิด รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนอย่างต่อเนื่อง

ชี้ค้างคาวไทย ไม่เจอเชื้อ COVID-19 

สำหรับประเด็นตามข่าวที่อ้างว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวเกือกม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตะวันออกของไทย นายประเสริฐ ระบุว่า ช่วงเดือนมิ.ย.2563 คณะนักวิจัยของไทย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และกรมอุทยาน ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้า) ในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่


โดยวิธีการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาว และเลือด เพื่อตรวจหา COVID-19 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัส COVID-19 เพียง 91% ซึ่งไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้


นอกจากนี้ กรมอุทยาน ยังได้ดำเนินการเชิงรุก โดยมีการสำรวจเชื้อ COVID-19 ในค้างคาว และลิ่น ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งดการล่า ค้า รวมทั้งบริโภคสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน

สธ.หนุนยังไร้หลักฐานโยงระบาดจากไทย 

ขณะที่ นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาวเพื่อศึกษาโรคอุบัติใหม่มานานเกือบ 20 ปี กรณีการระบาดรอบนี้มีข้อสงสัยว่า อาจข้ามมาจากสัตว์ แต่ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามาจากสัตว์อะไร แม้แต่การเข้าไปตรวจสอบว่าเกิดในพื้นที่ของจีนหรือไม่ ข้อสรุปก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น เรื่องนี้ต้องคอยดูหลักฐานที่ชัดเจน โดยไทยมีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง

เชื้อสายพันธุ์โคโรนามีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธ์แพร่ในสัตว์แต่ไม่สู่คน แต่ต้องย้ำว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัด


ผลการวิจัยที่ได้พบว่าค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวมงกุฏมีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลืงกับเชื้อไวรัส COVID-19 ถึงร้อยละ 91.5 แต่ไม่ติดต่อระหว่างค้างคาวสู่คน ทั้งนี้การไม่กินไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาวนับเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด

นอกจากนี้กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์ ได้ป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบแฝง ตั้งแต่ก่อนมี COVID-19 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหารือแผนปฏิบัติการป้องกันกำจัดโรคระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในตลาดค้าสัตว์ป่า โดยกำหนดให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่า และตลาดค้าสัตว์เลี้ยง 5 แห่ง ในพื้นที่ กทม. เช่น ตลาดจตุจักร ตลาดมีนบุรี ตลาดพุทธมณฑลเป็นประจำ


เขาไม่ได้เจาะจงเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง ถ้าหากไม่มีรายละเอียดที่ชี้ชัดในจีน ก็มีแนวโน้มที่จะดูประเทศอื่นๆ ที่มีชายแดนติดจีน เป็นการพูดกว้างๆ สันนิษฐานจากหลักวิชาการ แต่ยังไม่มีหลักฐาน แต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องก็ต้องมาดูข้อมูล ในฐานะที่ไทยมีระบบเฝ้าระวังเข้มข้นต่อเนื่อง แม้ไม่มีหลักฐานก็ดำเนินการป้องกัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตัดวงจร COVID-19 จากสัตว์ป่าสู่คน ห่วงก้าวข้ามสู่โรคประจำถิ่น

ลุยเขาอ่างฤาไนตรวจเชื้อ COVID-19 "ค้างคาวมงกุฎ" รู้ผล ก.ค.นี้

ม.เกษตร-จุฬาฯ เร่งสำรวจค้างคาวมงกุฎไทยหาเชื้อ "โคโรนา"

"หมอล็อต" นำทีมตรวจค้างคาวมงกุฏหาเชื้อ COVID-19 ในถ้ำสะดอ

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง