ศูนย์เอราวัณเผยยอดผู้บาดเจ็บ 33 คน เหตุสลายชุมนุม REDEM

การเมือง
1 มี.ค. 64
07:29
1,725
Logo Thai PBS
ศูนย์เอราวัณเผยยอดผู้บาดเจ็บ 33 คน เหตุสลายชุมนุม REDEM
ศูนย์เอราวัณ รายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมกลุ่ม REDEM เมื่อค่ำวานนี้ ล่าสุด มีผู้บาดเจ็บรวม 33 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 23 คน และประชาชน 10 คน กระจายส่งรักษาตัวใน 5 โรงพยาบาล

วันนี้ (1 มี.ค.2564) จากกรณีการชุมนุมของกลุ่ม "Restart Democracy – ประชาชนสร้างตัว" หรือ "รีเด็ม" (REDEM) ซึ่งนัดรวมตัวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หลังเกิดเหตุเผชิญหน้ากันต่อเนื่อง และมีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม โดย น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา นักศึกษาวัย 20 ปี เปิดเผยภาพผู้บาดเจ็บจากการเข้าร่วมกิจกรรมช่วงค่ำวันนี้ทางทวิตเตอร์ พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่ประชาชน 


ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวถึงการสลายการชุมนุม ว่า การปฏิบัติงานของตำรวจมีการประกาศแจ้งเตือนให้ทราบหลายครั้ง ว่าผู้ชุมนุมเริ่มทำผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมปฏิบัติตาม ทำลายสิ่งกีดขวางที่วางไว้ ดังนั้นตำรวจจึงใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายการชุมนุมเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ความเรียบร้อย โดยทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก เพราะตำรวจมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย


ล่าสุด ศูนย์เอราวัณสรุปข้อมูลผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายชุมนุม เมื่อเวลา 06.30 น. รวม 33 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 23 คน และประชาชน 10 คน โดยนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ 22 คน โรงพยาบาลรามาธิบดี 2 คน โรงพยาบาลพระรามเก้า 1 คน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 คน และโรงพยาบาลราชวิถี 7 คน และเสียชีวิต 1 คน โดยมีรายงานเพิ่มเติมว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ.บก.น.7 รอง สวป.สน.ธรรมศาลา เกิดอาการหัวใจวาย หลังนำส่งโรงพยาบาลราชวิถี ทีมแพทย์เร่งกู้ชีพแต่ไม่เป็นผล 

REDEM กับ 3 ข้อเรียกร้องปมบ้านพักนายกฯ

สำหรับการชุมนุมของกลุ่ม "Restart Democracy – ประชาชนสร้างตัว" หรือ "รีเด็ม" (REDEM) ระบุเป้าหมายหลัก 3 ข้อ คือ จำกัดอำนาจสถาบันฯ ขับไล่ทหารออกจากการเมือง และลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า โดยการเคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 เกิดขึ้นหลังกรณี "บ้านพักรับรอง" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เริ่มมีประเด็นตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อปี 2563

ต่อเนื่องถึงการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าเข้าข่าย “การขัดกันแห่งผลประโยชน์ รับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ข้อกล่าวหาคือเกษียณอายุแล้ว ยังพักในบ้านพักทหารโดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ก่อนที่ 2 ธ.ค.2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้อง เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก และประเด็นนี้ถูกนำมาอภิปรายอีกครั้งในปี 2564 

ล่าสุด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยกกรณี กรมสรรพากร ที่เคยตอบข้อหารือไว้ในปี 2547 ว่าค่าอาหารชุด ชุดละ 20 บาท พนักงานที่ได้รับฟรี ต้องถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ดังนั้นกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ รับค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาฟรี ตามที่ระบุในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมถือเป็นประโยชน์อื่นใด ที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมาตรา 40 เช่นกัน ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ทำให้เข้าใจได้ว่า ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ที่ได้รับฟรี ต้องนำไปเสียภาษีด้วย

นายเรืองไกร ยังระบุอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนำค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่ได้รับฟรี ไปเสียภาษีต่อกรมสรรพากร ถ้ายังไม่เสีย กรมสรรพากรต้องตรวจสอบเพื่อประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งวันนี้จะไปกรมสรรพากร ร้องต่ออธิบดีให้ตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีจาก พล.อ.ประยุทธ์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอมรับใช้ "แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง" ตร.เจ็บ 16 นาย จับผู้ชุมนุม 22 คน

ประมวลเหตุการณ์ใช้ "แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง-รถฉีดน้ำ" สลายชุมนุม REDEM

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง