สธ.ตั้งสอบข้อเท็จจริงปม "วีไอพี" ลัดคิวฉีดวัคซีน COVID-19

สังคม
2 มี.ค. 64
13:12
954
Logo Thai PBS
สธ.ตั้งสอบข้อเท็จจริงปม "วีไอพี" ลัดคิวฉีดวัคซีน COVID-19
อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีมีกระแสวิจารณ์กลุ่มวีไอพีใน จ.เชียงใหม่ ลัดคิวฉีดวัคซีน COVID-19 วันแรก ยืนยันอยู่ในกลุ่มเป้าหมายตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด ขณะที่ปลัด สธ.สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

วันนี้ (2 มี.ค.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีมีการวิจารณ์การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กลุ่มวีไอพีที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขการได้รับวัคซีนกลุ่มแรก ว่า  จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า เป็นการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ โดยก่อนหน้านี้บุคลากรทางการแพทย์ลงชื่อสมัครใจฉีดวัคซีนน้อยกว่าเป้าหมาย  แต่วันที่ 28 ก.พ.ประชาสัมพันธ์ให้ทราบก็มาฉีดกันมากขึ้น

แต่ปัญหาคือ ระบบหมอพร้อมของ จ.เชียงใหม่ ชื่อตกหล่น จึงไม่ได้ฉีด ซึ่งเรื่องนี้โรงพยาบาลนครพิงค์จะชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง แต่ในภาพรวม ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จังหวัดกำหนดไว้ ไม่ใช่นอกกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลนครพิงค์ วันแรก 140 คน แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 73 คน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 67 คน ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และจะทยอยฉีดครบตามจำนวนที่กำหนด โดยยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.เป็นผู้กำหนด

ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จัดสรรวัคซีนรอบแรกวันที่ 1 มี.ค. จำนวน 3,500โดส ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายได้ 1,750 คน  แบ่งเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชน 1,450 คน และอีก 300 คนเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หัวหน้าส่วนงานที่เสี่ยง, ฝ่ายปกครอง, ประธานสื่อมวลชน, นายกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว, สมาคม อสม.เชียงใหม่, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

นพ.โอภาส ระบุอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามมาตรการทุกอย่าง ตรงไปตรงมา และยึดหลักตามวิชาการทางการแพทย์ ไม่มีการปกปิดข้อมูล หากประชาชนมีข้อมูลสามารถแจ้งมาที่กระทรวงสาธารณสุขได้

สำหรับภาพรวมการให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 ช่วง 2 วันที่ผ่านมาใน 13 จังหวัด รวม 3,021 คน แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข รวมถึง อสม. 2,781 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 133 คน บุคคลที่มีโรคประจำตัว 21 คน และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่มีอาการข้างเคียงหลังจากได้รับวัคซีน เช่น อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด 4 คน และคลื่นไส้อาเจียน 1 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง