รองปลัดคมนาคม ยันสร้างรถไฟฟ้าไม่กระทบ "วิหารหลวงปู่ทวด"

สังคม
5 มี.ค. 64
10:52
2,436
Logo Thai PBS
รองปลัดคมนาคม ยันสร้างรถไฟฟ้าไม่กระทบ "วิหารหลวงปู่ทวด"
รองปลัดกระทรวงคมนาคม เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเพจวัดเอี่ยมวรนุช ยันสร้างรถไฟฟ้าไม่กระทบ "วิหารหลวงปู่ทวด 237 ปี"

(5 มี.ค.2564) จากกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ หลังเฟซบุ๊กวัดเอี่ยมวรนุช โพสต์ภาพพร้อมข้อความ  ระบุว่า วัดกำลังจะถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง สถานีบางขุนพรหม ทั้งที่วัดมีที่ดินอยู่ประมาณ 2 ไร่ 2 งานเท่านั้น แต่กลับถูกเวนคืนขยับพื้นที่เข้ามาเรื่อย ๆ

 

ล่าสุด นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เข้ามาแสดงความเห็นในเพจเฟซบุ๊ก "วัดเอี่ยมวรนุช" ยืนยันได้ตรวจสอบกับ รฟม. แล้วว่า พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าจะไม่กระทบ "วิหารหลวงปู่ทวด" และกระทรวงคมนาคมจะได้มอบหมายให้ รฟม.ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

"ศรีสุวรรณ" ค้าน รฟม.ทุบวัดเอี่ยมวรนุช 

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า การใช้อาจรัฐเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวมาเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง(ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.เวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 2562

เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว อนุญาตให้รัฐใช้อำนาจเวนคืนแต่เฉพาะที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่มิใช่ของรัฐเท่านั้น หากแต่วัดเอี่ยมวรนุช เป็นที่ธรณีสงฆ์ เป็นศาสนสถาน ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562 จึงถือว่าเป็นที่ดินของรัฐโดยปริยาย

 

อีกทั้งการใช้อำนาจรัฐดังกล่าว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27(1) ที่กำหนดหน้าที่ของรัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีของชาติเท่านั้น

วัดเอียมวรนุชมีประวัติที่มาของวัดอย่างยาวนาน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งประเทศ โดยเฉพาะมีรูปปั้นบูชาของหลวงปู่ทวด ที่คนไทยทั้งประเทศเคารพบูชา การที่ รฟม.จะเข้ามารื้อถอน ทำลายพื้นที่บางส่วนไปทำสถานีรถไฟฟ้า จึงถือได้ว่าเป็นการลบหรู่ความเชื่อทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โดยไม่ตรึกตรองและฟังความรอบด้าน ย่อมนำมาซึ่งหายนะที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้

 

นอกจากนั้นวัดเอียมวรนุชถือว่าเป็นโบราณสถาน มี พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2535 คุ้มครองอยู่ตาม ม.7 ทวิ ที่ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร ภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียนฯ ซึ่ง รฟม. มีทางเดียวคือ ต้องกลับไปทบทวนหาสถานที่ใหม่ในการสร้างสถานีรถไฟฟ้า

ดังนั้น หาก รฟม.ยังเดินหน้าใช้พื้นที่วัดเอี่ยมวรนุชมาสร้างสถานีขึ้น-ลงรถไฟฟ้า โดยทำลายแหล่งโบราณสถานของชาติดังกล่าว สมาคมฯ จะร่วมกับพี่น้องชาวพุทธทั่วประเทศ นำความขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนการใช้อำนาจของ รฟม. ดังกล่าวต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวนคืนที่ดิน "วัดเอี่ยมวรนุช" อายุกว่า 200 ปี สร้างรถไฟฟ้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง