เลขาธิการ สมช. ชี้ 2 ปัจจัย ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมโควิด

การเมือง
6 มี.ค. 64
13:22
268
Logo Thai PBS
เลขาธิการ สมช. ชี้ 2 ปัจจัย ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมโควิด
ก่อนจะถึงเทศกาลสงกรานต์ เม.ย.นี้รัฐบาลเตรียมผ่อนปรนมาตรการให้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นของขวัญให้คนไทยและกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สอดคล้องกับอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าที่รัฐบาลจะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นับเป็นสัญญาณบวก หลังจากรัฐบาลเตรียมผ่อนปรนมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ เดือน เม.ย.นี้ เพื่อเป็นของขวัญให้คนไทยทั้งประเทศสืบสานประเพณีสงกรานต์ สาดน้ำแบบวิถีใหม่ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว

สะท้อนถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายในการฝ่าวิกฤตโควิดระลอกใหม่ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอย่างได้ผล เว้นแต่จะมีปัจจัยไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกครั้ง เช่นการปกปิดข้อมูล

ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลยังเตรียมแผนลดระดับการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจะพิจารณายกเลิกภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อบังคับใช้กฎหมายปกติควบคุมโรคต่อไป

 

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า การที่รัฐบาลยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ทันที เนื่องจากต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุม เพราะเพิ่งจะมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดล็อตแรก

อาจทำให้เกิดช่องว่างในการป้องกันการแพร่ระบาดได้ จึงต้องวางกรอบระยะเวลายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้ที่อีก 2-3 เดือนข้างหน้า หรือภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะะตรงกับช่วงที่วัคซีนโควิดล็อตใหญ่ทยอยส่งเข้ามาในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ไม่มีการระบาดรุนแรง หรือเกิดคลัสเตอร์ใหม่อย่างไม่คาดคิด เช่นกรณีการแพร่ระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จนทำให้การเตรียมผ่อนคลายให้ประชาชนได้ท่องเที่ยวและเคาน์ดาวน์ในเทศกาลปีใหม่ต้องชะงักไป

รวมทั้งตัองคำนึงถึงปัจจัยจากการจัดหาวัคซีนที่จะต้องเป็นไปตามแผน หากทางบริษัทผู้ผลิตขัดข้อง หรือล่าช้าก็ต้องชะลอการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปก่อน

ตัวชี้วัด 2 เรื่องคือการระบาดของโรคกับการจัดหาวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน คงจำกันได้ว่าเราเคยจะผ่อนคลายมาตรการช่วงปีใหม่ แต่ก็เกิดการระบาดใหญ่ที่ จ.สมุทรสาคร ขึ้นก่อนและหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนั้นซ้ำอีก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ผ่านมา เป็นทั้งเครื่องมือที่ช่วยควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ทั้งระลอกแรกต้นปี 2563 และระลอกใหม่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และเป็นเงื่อนไขที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งข้อสังเกตว่า นำมาใช้สกัดการชุมนุมด้วยหรือไม่

นับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปี 2548 เพื่อควบคุมโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2563 เพื่อยกระดับขึ้นสู่การบังคับใช้มาตรการสูงสุด และให้สัญญาจะนำพาประเทศผ่านวิกฤต โดยมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฟสแรก 26 มีนาคม-30 เมษายน ห้ามเข้า-ออกราชอาณาจักร หรือ ล็อกดาวน์

 

เกือบ 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลขยายอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาจนถึงครั้งที่ 10 แล้ว โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.2564 และหากอีก 2 เดือนข้างหน้า รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะเป็นการประกาศต่ออายุมาครบ 12 ครั้ง หรือ 1 ปีเต็มพอดี ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าหลายส่วน

รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงที่มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดกำกับดูแล สิ้นสุดหน้าที่กลับไปภารกิจหลักตามปกติ แต่ยังต้องสนับสนุนรัฐบาลตามมาตรการที่จะผ่อนคลายรองรับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยไวรัสโควิด-19 ยังเป็นสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่นับเป็นภัยคุกคามความมั่นคง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง