คลายข้อสงสัย ทำไมยังไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน COVID-19

สังคม
8 มี.ค. 64
09:47
5,087
Logo Thai PBS
คลายข้อสงสัย ทำไมยังไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน COVID-19
"ศ.นพ.ยง" คลายข้อสงสัยทำไมไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน COVID-19 ระบุปัจจุบันทั่วโลกจะขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะติดต่อกับรัฐบาลเท่านั้น เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศต้องรับผิดชอบกรณีมีอาการแทรกซ้อน หรืออาการไม่พึงประสงค์

วันนี้ (8 มี.ค.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า 

มีคนถามมามากมาย ทำไมไม่ให้เอกชนนำเข้า ต้องเรียนว่า วัคซีนโควิด ในปัจจุบันทั่วโลกจะขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน EUA (Emergency Use Authorization) เกือบทั้งหมด

ดังนั้นการใช้ในแต่ละประเทศรัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องรับผิดชอบเอง บริษัทผู้ผลิตจึงจะไม่เจรจากับภาคเอกชน และไม่เข้ามารับผิดชอบร่วมด้วย ในกรณีที่เกิดมีอาการแทรกซ้อนหรืออาการไม่พึงประสงค์ การส่งมาจำหน่ายในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จึงต้องการติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น

ภาคเอกชนเมื่อติดต่อกับบริษัทผู้ผลิต บริษัทจะไม่ติดต่อด้วยจะต้องได้รับการรับรอง ร้องขอหรือสั่งจองจากภาครัฐ หรือตัวแทนภาครัฐ เช่น องค์การเภสัช หรือหน่วยงานอื่น ที่ภาครัฐมอบหมายเท่านั้น วัคซีนหลายบริษัทขณะนี้ อยากขายเพราะได้ราคาดีมาก

ในอนาคตหลังจากที่ประเทศทางตะวันตกได้ให้วัคซีนกับประเทศของตัวเองมากพอแล้ว วัคซีนก็จะเริ่มล้น และบริษัทก็ต้องการจะขายเอากำไร อย่างในอเมริกาตั้งเป้าการฉีดให้ได้ตามเป้าหมายภายในเดือน พ.ค. หลังจากนั้นปริมาณการใช้วัคซีนก็จะลดลง บริษัทที่ผลิตถึง 3 บริษัทก็ต้องการส่งออกหรือขายนั่นเอง

ดังนั้น ตามหลักความจริงแล้วภาคเอกชนจะไม่สามารถที่จะนำเข้ามาได้เลย ถึงแม้จะเป็นตัวแทนให้ทางบริษัทมาขึ้นทะเบียนกับ อย. ทางบริษัทจะไม่สนใจที่จะมาขึ้นทะเบียน ถ้าภาครัฐไม่ร้องขอ บริษัทจะต้องการหนังสือรับรองแสดงเจตจำนง (LOI) จากทางภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น

จนกว่าในอนาคต ที่ได้ขึ้นทะเบียนเต็มรูปแบบ และรับประกันความผิดชอบแล้ว ภาคเอกชนจึงจะสามารถนำเข้ามาได้ หรือนำมาขึ้นทะเบียนได้ อย่างวัคซีนหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่นอกแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ เช่น วัคซีนผู้ใหญ่ป้องกันปอดบวม วัคซีนเด็ก 5 โรค 6 โรค เพราะใช้ในยามปกติอยู่แล้ว และขึ้นทะเบียนได้ในภาวะปกติ

ทางออกที่จะให้ภาคเอกชน ได้ร่วมจัดซื้อ ลงทุน หรือบริการวัคซีน ช่วยภาครัฐได้ โดยเฉพาะพวกนายทุนใหญ่ ๆ ที่ส่งฝากถามผมมา

ภาคเอกชนจะต้องรวมตัวกันเจรจากับภาครัฐและทางฝ่ายรัฐหรือตัวแทนภาครัฐจะต้องเป็นคนเจรจากับบริษัทวัคซีนจะต้องรับรองหรือมีเงินกองทุน รับผิดชอบกรณีมีปัญหาของวัคซีน เช่น อาการไม่พึงประสงค์ เพราะถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาครัฐ ภาครัฐจะต้องออกหนังสือแสดงเจตจำนง Letter of Intent (LOI)  หนังสือนี้จะต้องเป็นของภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น แสดงเจตนาต่อคู่สัญญาก่อนที่จะเซ็นสัญญาร่วมกัน ถ้าไม่มีหนังสือแสดงเจตจำนง บริษัทวัคซีนต่าง ๆ ก็จะไม่มาขึ้นทะเบียน ก็เป็นไปไม่ได้ที่ภาคเอกชนจะนำเข้ามา

โดยหลักการแล้ว บริษัทใหญ่ ๆ นายทุนใหญ่ ๆ ก็อยากจะช่วยเหลือภาครัฐนำเข้าวัคซีน ที่เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ที่ต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว แต่ในความเป็นจริง ภาคเอกชน หรือนายทุนที่จะช่วยเหลือ เช่น โรงงานต่าง ๆ สภาอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว ถ้าทางภาครัฐ ไม่เข้าร่วมเจรจา กับบริษัทวัคซีนแล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะมีการนำเข้ามาในช่วงนี้ จนกว่าจะมีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแบบเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน

ดังนั้นหลายคนที่ถามมาว่า ทำไมภาคเอกชน ที่อยากนำเข้า แต่ไม่สามารถนำเข้ามาได้ คงจะได้เข้าใจ

โควิด วัคซีน มีคนถามมามากมาย ทำไมไม่ให้เอกชนนำเข้า ต้องเรียนว่า วัคซีนโควิด ในปัจจุบัน ทั่วโลก...

โพสต์โดย Yong Poovorawan เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2021

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง