The EXIT : อาณาจักรนารีสีเทา

อาชญากรรม
9 มี.ค. 64
16:45
281
Logo Thai PBS
The EXIT : อาณาจักรนารีสีเทา
เนื่องด้วยวันสตรีสากล The EXIT มีซีรี่ย์พิเศษเกี่ยวกับอาชีพของผู้หญิง ในมุมที่หลายคนอาจจะมองว่า เป็นอาชีพสีเทา แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงกลุ่มนี้ มีมุมมองต่ออาชีพของตัวเองอย่างไร รวมถึงสิทธิเสรีภาพ และความปลอดภัย The EXIT จะนำเสนอเรื่องนี้ทั้งสัปดาห์

เหตุการณ์ขณะที่ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลัลลาเบล อายุ 25 ปี อาชีพ พริตตี้เอนเตอร์เทน ถูกลวนลามขณะหมดสติ ระหว่างรับงาน ในบ้านแห่งหนึ่งย่านบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ปลายปี 2562

ถูกตีแผ่ให้เห็นถึงความเสี่ยงของอาชีพนี้ ถึงขั้นนำไปสู่การเสียชีวิต ผลชันสูตรพลิกศพ ระบุว่า เสียชีวิตจากการดื่มสุรา พบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด สูงถึง 418 มิลิกรัมเปอร์เซ็นต์

 

คดีนี้ตำรวจออกหมายจับผู้ต้องหา รวม 3 ข้อหา คือ กักขังหน่วงเหนี่ยว  กระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และพาไปเพื่อกระทำอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278

เป็นสถานการณ์ที่คล้ายกันที่พริตตี้เอนเตอร์เทนจะถูกลวนลาม และ ถูกมอมสุรา ซึ่งที่ผ่านมาโมเดลลิ่งไม่เคยออกมารับผิดชอบแม้จะมีกรณีการเสียชีวิต

รูปแบบการรับงาน เป็นอีกปัจจัย ที่หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า มีผลต่อความปลอดภัยของผู้หญิง ที่ทำงานในลักษณะนี้ 

จากข้อมูล พบว่านายหน้า หรือ โมเดลลิ่ง มีหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นโมเดลลิ่ง ที่จัดตั้งขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ได้มีความสนิทสนม หรือรู้จักเป็นการส่วนตัวกับพริตตี้เอนเตอร์เทน อาศัยหารายได้ จากการเป็นตัวกลางประกาศจัดหาคนรับงาน ตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น

หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยอมรับว่า การเสียชีวิตของ “ลัลลาเบล” ทำผู้หญิงในอาชีพนี้ คำนึงถึงความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

 

กรณีการเสียชีวิตล่าสุด ของน.ส.วิชญาพร วิเศษสมบัติ หรือ วาวา ระหว่างรับงานเอนเตอร์เทนลูกค้า ย่านเสนานิคม 1 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

เห็นได้ชัดเจน จากหลักฐานข้อความแชท และ คำให้การของโมเดลลิ่ง ที่ระบุว่า ผู้เสียชีวิตพยายามดูแลความปลอดภัยของตัวเอง ด้วยการสื่อสารกับโมเดลลิ่งตลอด ตั้งแต่การถ่ายรูปทันทีที่เดินทางไปถึงสถานที่จัดงาน แจ้งลักษณะงาน บุคคลเข้าร่วม รวมไปถึงการส่งข้อความก่อนจะเริ่มงาน

หลังจากที่น้องส่งสถานที่งานมา น้องก็บอกว่าจะขอเก็บโทรศัพท์เพราะเกรงใจลูกค้า 

จากกรณีที่เกิดขึ้นองค์กรด้านเด็ก – สตรี และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยื่นหนังสือขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งตรวจสอบดำเนินการกับโมเดลลิ่ง ว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551 หรือไม่

ขณะที่ผลสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลยังพบว่า ปัจจุบันผู้หญิงที่มีอาชีพพริตตี้เอนเตอร์เทน มีอายุต่ำสุด 17 ปี ไปจนถึง 35 ปี และมีแนวโน้มที่ จะมีอายุน้อยลง

ร้อยละ 60 ถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ เพื่อแลกกับค่าตอบแทน โดยเฉพาะการบังคับ และข่มขู่ ให้กระทำนอกเหนือข้อตกลง เช่น เสพยาเสพติด

ผู้หญิงที่ถูกกระทำในลักษณะนี้ มีแนวโน้นที่ไม่กล้าแจ้งความ เพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย  จึงเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งศูนย์กลางรับเรื่องเพื่อแก้ไขปัญหา

ตรงไหนเป็นขอบเขตที่ทำได้ หรือ ทำไม่ได้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเร่งดำเนินการดูให้เป็นภาพรวม พร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับกรณีการเสียชีวิตของพริตตี้เอนเตอร์เทน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง