สเก็ตบอร์ดเลี้ยงชีพ "แข่ง - ขาย" ความท้าทายชีวิตอดีตทีมชาติ

ไลฟ์สไตล์
10 มี.ค. 64
07:21
2,048
Logo Thai PBS
สเก็ตบอร์ดเลี้ยงชีพ "แข่ง - ขาย" ความท้าทายชีวิตอดีตทีมชาติ
ในวันที่สเก็ตบอร์ด-เซิร์ฟสเก็ตกลายเป็นกีฬาที่ใคร ๆ ก็เล่น ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนพูดคุยกับอดีตนักกีฬาสเก็ตบอร์ดทีมชาติไทย บอกเล่าวันวานที่ต้องถือสเก็ตบอร์ดแบบแอบ ๆ แต่เขาคนนี้ยังตั้งมั่นเลี้ยงชีพด้วยสเก็ตบอร์ด จากสนามแข่งทั่วเอเชียจนมาถึงการเปิดร้านของตัวเอง

หลังกระแสสเก็ตบอร์ดและเซิร์ฟสเก็ตบูมขึ้นมาจนหันไปทางไหน หรือเข้าแอปฯ อะไร ก็ดูเหมือนว่าทุกคนเล่นเป็นกันหมด ไทยพีบีเอสออนไลน์ติดต่อร้านขายสเก็ตบอร์ดย่านรังสิต เพื่อพูดคุยถึงความเติบโตของตลาดสเก็ตบอร์ดและเซิร์ฟสเก็ต

นายวีรยุทธ เอกศิรสุวรรณ หรือ นัท เจ้าของร้านขายสเก็ตบอร์ด เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักเซิร์ฟบอร์ดมาก่อน แต่ขายสเก็ตบอร์ดมาตั้งแต่ยุค Hi5 บนออนไลน์ จนมามีหน้าร้านเป็นหลักแหล่งนาน 15 ปีแล้ว แต่ในช่วง COVID-19 ลูกค้าได้เข้ามาสอบถามจำนวนมากจึงได้ไปศึกษาก่อนสั่งซื้อสินค้าเข้ามาขายที่ร้าน

สเก็ตบอร์ดฮิตทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ฮิตขึ้นไปอีก รวมไปถึงเซิร์ฟบอร์ด คิดว่าเป็นเพราะ COVID-19 ทำให้คนสนใจจะลอง เพราะเป็นกีฬาที่เล่นคนเดียวหน้าบ้านหรือที่ไหนก็ได้ จนตอนนี้สินค้าเริ่มขาดตลาด ยอดสั่งซื้อพุ่งปรู๊ด ใครๆ ของไม่มีให้สั่ง


เมื่อถามว่า "พี่ขายสเก็ตแล้วเล่นเองด้วยหรือเปล่า?" นายวีรยุทธ หันมายิ้มแล้วตอบว่า "ผมเป็นอดีตนักกีฬาสเก็ตบอร์ดทีมชาติไทยครับ" ก่อนจะย้อนประสบการณ์ว่า เริ่มตั้งแต่ตอนเด็กก็เตะฟุตบอลเหมือนเด็กคนอื่น แต่วันหนึ่งเห็นเพื่อนแถวบ้านเล่นสเก็ตบอร์ดแล้วกระโดดไม่ได้สักทีจนคิดในใจว่า "ทำไมมันยากจัง"

เมื่อตั้งคำถามก็ต้องหาคำตอบ นายวีรยุทธ ตัดสินใจขอเพื่อนลองเล่นแล้วก็ล้มตั้งแต่ครั้งแรกที่ลอง แต่ก็ยังไม่ลดความพยายามกระโดดวนไปจนสุดท้ายก็กระโดดได้โดยไม่ล้ม ทำให้รู้สึกภูมิใจในตัวเองแล้วก็เล่นสเก็ตบอร์ดมาตลอด แต่สมัยก่อนสเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาที่น่าอาย ภาพลักษณ์เหมือนกีฬาของเด็กเกเร ตัวประหลาด ไปเล่นที่ไหนก็ถูกไล่ แค่ไถผ่านยังถูกไล่ จนเวลาเดินไปไหนต้องเอาบอร์ดแอบไว้ด้านหลัง


เมื่อก่อนไปไหนเขาก็ไล่ บอกอย่ามาเล่นเดี๋ยวกระเบื้องพัง สมัยนี้กระเบื้องแผ่นเดิมแต่เขาให้เล่นฟรี ผมอยู่กับสเก็ตมาทั้งชีวิต ตั้งแต่อายุ 15 ถึง 35 ปี เป็นนักกีฬาไปแข่งเพื่อเลี้ยงชีพ 

เดินสายแข่งสเก็ตบอร์ด วางแผนแบบนักลงทุน

หลังเรียนจบก็กำหนดเส้นทางชีวิตสู่สายสเก็ตบอร์ดทันที นายวีรยุทธ เริ่มต้นหาเลี้ยงชีพจากการขายสเก็ตบอร์ดผ่านช่องทางออนไลน์ ควบคู่ไปกับการหาสนามแข่งขันสเก็ตบอร์ดทั้งในและต่างประเทศ ก่อนโอกาสการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยจะเข้ามาให้ได้แสดงฝีมือบนเวทีมหกรรมกีฬาเอเชียน อินดอร์เกมส์ที่มาเก๊า แล้วคว้าอันดับ 2 ประเภท Best Trick กลับมาให้ประเทศไทยได้

ผมเล่นสเก็ตบอร์ดเพื่อยังชีพนะ เพราะตั้งแต่เด็กก็ทำอะไรไม่ดีเด่น มีเรื่องนี้ที่คิดว่าทำได้ ผมเลยหารายได้จากมัน เงินรางวัลจากทีมชาติก็เอามาทำทุนเปิดร้านขายสเก็ตจนถึงทุกวันนี้


นายวีรยุทธ เล่าว่า การแข่งขันสเก็ตบอร์ดมีมานานตั้งแต่ก่อนปี 2000 โดยมีแข่งทั้งในและต่างประเทศ ส่วนตัวเริ่มตระเวนแข่งขันตั้งแต่อายุ 20 ปี สำหรับการแข่งในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการเชิญร่วมแข่งขันโดยผู้จัดเสนอที่พักและตั๋วฟรี แต่บางรายการต้องเสาะหาการแข่งขันด้วยตัวเองพร้อมลงทุนวางแผนออกค่าตั๋ว ค่าที่พักว่าคุ้มกับเงินรางวัลที่จะได้มาหรือไม่ หากมีลุ้นก็จะไป แต่ถ้ามองรายชื่อคู่แข่งเป็นไอดอลหรือโปรสเก็ตบอร์ดที่ดูเขาเพื่อฝึกท่าก็ไม่ไป

คำว่าแพ้ของผม คือ ขาดทุน ส่วนใหญ่ไม่ขาดทุน แต่เสมอตัว ดีที่ต่างประเทศให้รางวัล 1-10 ถ้าติดก็เท่าทุน ก่อนไปก็ต้องคำนวณค่าตั๋ว ค่าที่พัก ถ้าดูแล้วไม่มีที่เหลือบนแท่งรางวัลเราก็ไม่ไป


อย่างไรก็ตาม การแข่งขันสเก็ตบอร์ดหลายประเทศจัดแข่งขันต่อเนื่อง ประเทศไทยเองก็จัดการแข่งขันอยู่บ้าง แต่เงินรางวัลหลักหมื่นซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างจีนหรือสิงคโปร์ที่จัดแข่งเกือบทุกเดือน ด้วยเงินรางวัลหลักแสน ซึ่งคนไทยสู้ได้อยู่แล้ว เพราะคนไทยเก่งหลายคน เมื่อก่อนต่างประเทศต้องเชิญคนไทยไปเล่นสเก็ตบอร์ดเพื่อเปิดงาน แต่ตอนนี้จีน ฮ่องกงมีสนามสเก็ตบอร์ดหลักร้อย ตลาดแข่งขันเขาใหญ่มาก ส่วนไทยยังเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย


ทั้งนี้ นายวีรยุทธ มองว่า การหาเลี้ยงชีพด้วยสเก็ตบอร์ดในประเทศไทยยังพอไปได้ แต่ต้องมองหาสนามแข่งทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต่างประเทศเริ่มมีอาชีพหรือต้นสังกัดให้เงินเดือนแล้ว รวมถึงกรณีแบรนด์สินค้าจ้างเป็นพรีเซนเตอร์ด้วย โดยหวังว่าในอนาคตตลอดสเก็ตบอร์ดจะโตขึ้นต่อเนื่อง เหมือนกับกระแสที่คนเริ่มมาเล่นกันมากขึ้น

ดีใจที่เป็นกีฬาที่ทุกคนอยากลองเล่น อยากเห็นเดินไปไหนคนก็ถือสเก็ต เพราะเมื่อก่อนคนมองคนถือสเก็ตบอร์ดเป็นตัวประหลาด หลังจากนี้เมื่อคลายล็อกเป็นเรื่องปกติที่กระแสฮิตแล้วก็ต้องลง แต่คิดว่ายังเหลือคนที่รักมันจริงไม่มากก็น้อย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

อย่าเพิ่งซื้อ "เซิร์ฟสเก็ต" ราคาแรง ลองเล่นฟรีที่สวนรถไฟ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง